Inside Dara
ขังดาราในกรงทอง! ระวัง 'สมองไหล' เมื่อช่อง 3 จะคุมโซเชียลสตาร์

หินก้อนใหญ่ที่บิ๊กช่อง 3 โยนถามทางให้ศิลปินดาราน้อยใหญ่ ผู้จัดการหนาวๆ ร้อนๆ กัน เห็นจะไม่พ้นเรื่อง การตั้งหน่วยบริหารดารา โดยห้ามรับงานพรีเซ็นเตอร์ แบรนด์แอมบาสเดอร์ หรือออกอีเวนต์เอง แต่ไปรับต้องผ่านจากต้นสังกัดเท่านั้น งานนี้มีแต่ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหว เพราะยังไม่มีรายละเอียดใดออกมาจากช่อง

อ้าว...แล้วตอนนี้ศิลปินดาราเขารับงานกันยังไงล่ะ ใครจะตอบได้ดีกว่า ตัวศิลปินดาราหรือผู้จัดการดารานั่นเอง ไทยรัฐออนไลน์พูดคุยกับผู้จัดการดาราท่านหนึ่ง ที่มีศิลปินดาราน้องๆ ในสังกัดหลายสิบคนรายหนึ่ง วิเคราะห์ผ่านเราว่า

ช่อง 7 คือ ใช้โมเดลที่ดารากับผู้จัดการหางานกันเอง ทางช่องไม่เข้ามาก้าวก่าย เพียงแต่ดูแค่ภาพลักษณ์ไม่รับพวกงานเหล้าเบียร์หรืออะไรที่ทำให้ภาพลักษณ์ไม่ดี หากดาราจะไปเป็นพรีเซ็นเตอร์หรืองานออกอีเวนต์อะไร ก็แค่แจ้งให้ทางช่องรับทราบเท่านั้น ส่วนโซเชียลแล้วแต่บุคคลเลย

ส่วน ช่อง 3 คล้ายกับ ช่อง 7 ส่วนไม่รับงานข้ามช่องหรือช่องคู่แข่งที่มีทีวีดิจิทัลเข้ามาด้วย อันนี้ก็เป็นอันรู้กันว่าไม่สมควรอยู่แล้วหากยังสังกัดช่อง ไม่ใช่สังกัดอิสระ สัดส่วนค่าตัวดาราก็แตกต่างกัน อย่างดารา 70-90% ผู้จัดการส่วนตัว 10-30% แล้วแต่จะตกลงกัน

ด้าน แกรมมี่ เนื่องจากเขามีหลายแผนก มีหลายธุรกิจ ไม่ใช่แค่เพลงอย่างเดียว จึงทำให้มีการวางแผนมาก่อน มีทั้ง บริษัท อราทิสท์ แมเนจเม้นท์ จำกัดที่เป็นเหมือนโมเดลลิ่งให้กับศิลปินในสังกัดแกรมมี่ทั้งหมด และอีกหลายแผนกที่ดูแลศิลปินเฉพาะด้าน อาทิ พรีเซ็นเตอร์ หรือแม้แต่แผนกด้านลิขสิทธิ์เพลง เรียกว่าครบวงจร

"โมเดลของแกรมมี่ ดีตรงที่ศิลปินดารามีค่าตัวชัดเจน ไม่มีมั่วราคา เพราะมีเรตราคากลาง เว้นแต่ถ้าสนิทสนมกับผู้จัดการส่วนตัวและค่ายจะตกลงกัน นอกจากนี้การบริหารจัดการศิลปินดาราได้ดี เพราะขายเป็นแพ็กได้ อย่างแบรนด์จะจ้างดารา 1 คน ราคา 1 แสนบาท แต่ค่ายมีแพ็กเพิ่มเติม แบบถ้ารับดารา 3 คน อาจได้ในราคา 1.3 แสนบาท ทำให้ศิลปินที่งานน้อยเบอร์รองๆ มา จะได้รับงานเพิ่มจากการขายยกแพ็กของค่ายด้วย และแกรมมี่เองก็มีสื่อในมือหลากหลาย สามารถโปรโมตตัวศิลปินให้มีงานได้อย่างต่อเนื่อง"

แต่ข้อเสียก็มี คือ ระยะเวลาในการพิจารณางานแต่ละงานนาน ผ่านหลายชั้น หลายขั้นตอน จากปกติผ่านแค่ผู้จัดการดาราสกรีนงานให้ แต่พอมีค่าย ก็ต้องผ่านทั้งผู้ดูแลศิลปินของทางค่าย และผู้ใหญ่ของทางค่ายพิจารณาด้วย

ส่วนโมเดล ช่อง 7 เรียกว่าสบายใจกันไป ไม่มีตัวหารจากต้นสังกัดเพิ่มเติม แต่ก็ต้องเหนื่อยหน่อย วิ่งหางานกันเยอะหน่อย ผู้จัดการดาราคอนเน็กชั่นดีก็มีงานเยอะ แต่ถ้าเล่นละครแล้วผลงานยังไม่ออนแอร์ เงินก็อาจยังไม่ได้ แต่ก็ถือว่าแบ่งรับแบ่งสู้กับการไม่มีช่องมาเป็นตัวหาร อันนี้ก็แล้วแต่ความสามารถ

อย่างไรก็ดี สำหรับดาราเบอร์ใหญ่ๆ นั้น ทางช่องก็เข้ามาจัดการเยอะหน่อยเป็นธรรมดา เหมือนช่อง 7 มีเพียง อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ, เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ, มิน-พีชญา วัฒนามนตรี, พอร์ช-ศรัณย์ ศิริลักษณ์, ขวัญ-อุษามณี ไวทยานนท์ และปุ๊กลุก-ฝนทิพย์ วัชรตระกูล ที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ได้ แต่ช่อง 3 มีเยอะหน่อย นี่เองที่ทำให้ช่อง 3 คงมองเห็นว่า ยังมีภูเขาใต้น้ำแข็งอีก ที่เป็นค่าจ้างดาราที่ยังมองไม่เห็นอีกมาก โดยพุ่งเป้าไปที่ งานโซเชียลมีเดีย จึงไม่แปลกใจที่ช่อง 3 จากเดิมที่กลไกคล้ายช่อง 7 แต่กำลังจะโยนหินถามทางช่อง 3 ที่จะคุมศิลปินดารากำลังเดินตามรอยโมเดลของแกรมมี่"

ผู้จัดการดาราคนนี้วิเคราะห์วงการมายายังวิเคราะห์ต่ออีกว่า สิ่งที่ช่อง 3 อาจเห็นหรือมองข้ามปัญหาไปคือ แกรมมี่มีสื่อในมือเยอะ ทั้ง แกรมมี่โกลด์ จีเอ็มเอ็ม 25 และแกรมมี่ส่วนกลางจะมี AR (Artist Relation) คอยดูแลศิลปินอยู่ ทำงานควบคู่กับผู้จัดการส่วนตัว หรือบางคนทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ ขณะที่ช่อง 3 เองมีฝ่าย AR เหมือนกัน แต่เรียกว่า ฝ่ายบริหารนักแสดงที่มีไม่ถึง 10 คน แต่ดาราในสังกัดกว่า 500 คน อันนี้อาจสร้างผลกระทบตามมาจนถึงขั้น “สมองไหลดารา” ได้เลย

“สมองไหลดาราคืออะไรน่ะเหรอ คือ หากทางต้นสังกัด AR ไม่เพียงพอต่อศิลปิน ไม่หางานให้ส่วนดาราเองก็ไม่อยากต่อสัญญา เพราะแบ่งค่าตัวให้ผู้จัดการส่วนตัว เพราะช่วยหางาน แต่ถ้าทางค่ายไม่ได้ช่วยอะไร แต่ต้องแบ่งค่าตัวด้วยก็อาจทำให้เกิดภาวะแบบนี้ได้ ภาวะนี้นำไปสู่การเป็นนักแสดงอิสระ เดิมค่าตัวแบ่งกัน ดารา 70% : ผู้จัดการ 30% กลายเป็นเมื่อมีค่ายเข้ามา ดารากับผู้จัดการรวมกัน 80% : ค่าย 20% ถือว่าดาราต้องแบ่งให้กับทางค่ายมากขึ้น”

ใช่ว่าจะดูเป็นวิกฤติของวงการมายา ทางออกก็มีอยู่ ผู้จัดการดารารุ่นเก๋ารายนี้ วิเคราะห์ทางออกว่า

“ถ้าจะจัดระเบียบค่าตัวดาราใหม่สำหรับผลงานด้านต่างๆ รวมถึงควรมีหน่วยงานที่ดูแลศิลปิน พร้อมกับช่วยดูแลศิลปิน ทั้งหางานมาให้ ทั้งดูแลหลังฉากจนถึงหน้างาน รวมถึงทำข่าวประชาสัมพันธ์ดาราศิลปินด้วย ที่สำคัญสัดส่วนของการแบ่งค่าตัวไม่ควรเกิน 5-10% และต้องเท่ากันทุกคน ไม่ใช่ดาราคนนี้ 5% อีกคน 10% เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน ก็ทุกคนยอมจ่าย ถ้าได้งานที่ดี ยอมจ่ายถ้ารู้สึกว่าเงินที่เสียไปได้อะไรบ้าง”

ทั้งหมดเธอเรียกว่าเป็นการวางกลยุทธ์บริหารจัดการศิลปินที่มีคุณภาพมากขึ้น

แม้ว่าปัญหาในเรื่องค่าตัวอาจมีทางออก แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคาใจกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์หรือเอเจนซี่ มองกับเรื่องนี้อย่างไร?

เรื่องนี้ หนึ่งในดิจิทัล เอเจนซี่ ที่มีแคมเปญร่วมกับศิลปินดารามากมาย จิณณ์ เผ่าประไพ Managing Director ของ CJ WORX ดิจิทัล เอเจนซี่ แสดงความเห็นว่า ช่องทางในการติดต่อประสานงานกับดาราศิลปินที่พบคือ เรื่องขั้นตอนในการดำเนินการ ในขณะที่การทำงานโฆษณา โดยเฉพาะดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ทุกอย่างต้องรวดเร็ว คาดเดาว่าอาจทำให้กระบวนการทำงานยืดขึ้น นานขึ้น คุยผ่านผู้จัดการดาราแล้ว หลังบ้านผู้จัดการต้องประสาน AR และไปหัวหน้าของต้นสังกัดที่มีอำนาจในการตัดสินใจได้อีก เหมือนต้องมีการผ่านการอนุมัติสองขั้นตอน ทั้งขาไปและขากลับ

ปัญหานี้ทางผู้จัดการดารารุ่นเก๋ารายนี้ มองว่า อันนี้ก็ยอมรับว่า อาจจะทำให้ล่าช้าขึ้นมาบ้างแต่ไม่นาน เพราะดาราทุกคนก็ต้องแข่งกัน หากมัวแต่ชักช้า ดาราก็มีเยอะขึ้นทุกวัน อาจทำให้ไม่ได้งานนั้นก็เป็นได้ ส่วนแบรนด์หรือเอเจนซี่ติดต่อดาราผ่านใครอยู่ ระหว่างผู้จัดการดารา หรือ AR จากต้นสังกัด ก็ได้ทั้งนั้น ที่เหลือเป็นการจัดการภายใน

“ส่วนเรื่องค่าตัวจะแพงขึ้น เพราะมีคนหารเพิ่มขึ้น แบรนด์และเอเจนซี่ ไม่ต้องห่วงเลย เพราะเป็นเรื่องการจัดการภายในระหว่างศิลปินดารา-ผู้จัดการส่วนตัว-ต้นสังกัด บอกเลยว่าเป็นไปได้ยาก คนที่ได้ลดลงคือ ตัวดาราเอง เพราะทุกวันนี้มีดาราศิลปินใหม่ๆ มีมากมาย งานก็หายาก นอกจากแข่งกันที่ผลงาน ราคาก็มีส่วนด้วยเช่นกัน หากค่าตัวสูง ยิ่งจะทำให้ไม่ได้งาน บางงานก็ต้องยอมลดราคาเพื่อให้ได้งานด้วยซ้ำ ถ้าค่าตัวจะเพิ่ม ก็เพราะดาราคนนั้นกำลังอยู่ในกระแส หรือมี VALUE อะไรบางอย่างที่แบรนด์และเอเจนซี่ทั้งหลายจะคุ้มค่า และได้ภาพลักษณ์ของดาราศิลปินที่ดีขึ้นด้วย”

ก่อนที่เธอจะทิ้งท้ายว่า แม้จะดูว่าเป็นวิกฤติ แต่ถ้าแบ่งเค้กลงตัวทุกอย่างก็จบ ไม่ต้องตื่นเต้นตกใจอะไร เพราะทุกอย่างมันคือธุรกิจ เมื่อประโยชน์ลงตัวทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่ต้องกลัวว่าจะกระทบเอเจนซี่หรือแบรนด์หรอก