Inside Dara
“ขานชื่อเสียงสูง-ตากลมน้องสาว-แข่งรักแร้ขาว” กูรูฉะแหลก “มิสแกรนด์” ขายเว้า-เอาฮา-ไร้รสนิยม!!

“แม่เจ้า!! เอาน้องสาวออกมาตากลมกันทั้งนั้น แบบนี้มันไม่ใช่นางงามแล้ว” หลังคำวิจารณ์จาก ดร.เสรี หลุดออกไป ณวัฒน์ ตัวหลักแห่ง “มิสแกรนด์ ไทยแลนด์” ก็ลุกขึ้นมาซัดและขู่จะฟ้องกลับ ท่ามกลางกระแสสังคมที่แบ่งเป็น 2 ฟาก มีทั้ง “อวยช่วย” และ “เหยียบซ้ำ” ฝั่ง “กูรูนางงาม” มองเห็นด้านบวก เป็นเวทีส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายอย่าง “เกินงาม-ดูตลก-ไร้รสนิยม” ไม่ต่างอะไรจาก “เวทีสาวประเภทสองในร่างผู้หญิง”!!

เวทีนี้ “เกินพอดี-เกินพอเหมาะ-เกินไป”

"ใช้คำสั้นๆ คำเดียวว่า เกิน.. เกินพอดี เกินพอเหมาะ เกินไป... ชุดว่ายน้ำก็เป็นไฮคัต (เว้าขาสูง) บางคน (บิกินี) เหลือข้างหลังเป็นเส้นสตริงเส้นเดียวจริงๆ แบบนี้มันไม่ใช่นางงามแล้ว... แม่เจ้า!! เอาน้องสาวออกมาตากลมกันทั้งนั้นเลย... คนจะประกวดได้ ต้องเป็นคนใจกล้า แล้วก็...ด้วย ไปต่อคำกันเอาเอง"

ดร.เสรี วงษ์มณฑา ฉะแหลก-ลงลึก ถึงทัศนคติด้านลบที่มีต่อเวที “มิสแกรนด์ ไทยแลนด์” ผ่านรายการ "เสรีดราม่า" เอาไว้อย่างชัดถ้อยชัดคำ โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “ชุดว่ายน้ำไฮคัต” ที่เว้าขาสูงจนน่าใจหาย สูงจนลึกไปถึงส่วนที่ควรปิดของผู้เข้าประกวดหลายๆ คน จนทำให้นักวิจารณ์ฝีปากกล้ารายนี้ อดที่จะตั้งคำถามต่อคอนเซ็ปต์ของเวทีสาวงามเวทีนี้ไม่ได้จริงๆ ว่าต้องการสื่อสารเรื่องอะไรกันแน่

“ต้องถามว่าเราต้องการ "สาวมาดมั่น" ใช่ไหม แต่ถามว่าเรามั่นในอะไร มั่นว่าเราสามารถแต่งกายแบบนี้ให้คนดูเราได้ โดยไม่รู้สึกอะไรอย่างนั้นเหรอ เรามั่นอย่างอื่นได้ไหม เดินด้วยความมั่นใจ ไม่สั่นและสง่างาม และให้สัมภาษณ์ด้วยความมั่นใจได้ไหม ตอบคำถามได้ฉะฉานโดยไม่อึกอักได้ไหม

จำเป็นต้องเปิดนม เปิดก้นไหม เราตีความผิดกันไปหรือเปล่า ทำไมต้องมั่นว่า ฉันจะเปิดส่วนไหนของฉัน ฉันก็มั่นอย่างนั้นเหรอ มันไม่ใช่นางงามไง อย่าให้พี่พูดเลยว่านางอะไร

พี่โกรธมากที่มีคนคนนึงพูด หลังจากเห็นชุดว่ายน้ำของเวทีนี้ว่า เห็นครั้งแรกนึกว่าประกวดมิสทิฟฟานี พี่ขึ้นเลยนะ พี่ตอบไปเลยว่า มิสทิฟฟานีก็ไม่เคยเป็นเช่นนี้ อย่างบางคนที่เขายังไม่ได้ผ่าตัด เขาไว้นม-ผมยาวก็จริง แต่บางคนยังเก็บงูเอาไว้ เราก็ให้เขาใช้ผ้าพันคอพัน มาพันเอวปิดไว้เลย ไม่ให้ดูอุจาด หรืออย่างชุดว่ายน้ำที่น้องๆ มิสทิฟฟานีใส่ ก็ไม่มีแบบไฮคัตเลยค่ะ หน้าอกก็ไม่ได้ลึกขนาดนั้นด้วย”

อีกหนึ่งประเด็นที่รู้สึกขัดหูขัดตา ถึงขนาดเปิดคลิปตัวอย่างแล้ว ดร.เสรี ต้องหัวเราะแบบอายแทนออกมา ก่อนพูดว่า “ตายแล้ว พอแล้วๆ รกสายตา” ก็คือช่วง “แนะนำชื่อ-ขานบอกจังหวัดที่มา” ซึ่งได้วิจารณ์เอาไว้ผ่านสีหน้าไม่สู้ดีว่า "พี่ไม่สบายใจตั้งแต่เห็นการแนะนำตัว บิดขา และเสียงสูงแล้ว” ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่คนในสังคมจำนวนไม่น้อย ตอบสนองกลับการประกวดด้วย “เสียงหัวเราะ” และ “คำวิจารณ์เชิงขบขัน” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

และแน่นอนว่าเมื่อมีการแสดงท่าทีไม่ไยดี ต่อคอนเซ็ปต์ของเวทีสาวงามออกสื่ออย่างชัดเจนเช่นนี้ ผู้อำนวยการกองประกวดมิสแกรนด์ ไทยแลนด์ อย่าง ณวัฒน์ อิสรไกรศีล จึงไม่อาจนิ่งดูดายต่อไปได้ ขอลุกขึ้นมาตอบโต้ โพสต์ชี้แจงผ่านแฟนเพจ "ณวัฒน์ อิสรไกรศีล - Mr.Nawat Itsaragrisil" ย้ำชัดว่าเป็นโพสต์ที่เขียนเพื่อกราบเรียนถึงด็อกเตอร์ผู้วิจารณ์โดยตรง คัดเฉพาะประเด็นสำคัญออกมาได้ความแบบนี้

“ที่พูดว่ารกสายตา พอๆๆ ผมว่าอาจารย์พูดเกินไปครับ ถ้าอาจารย์จะไม่ดูก็ได้ จะได้ไม่ต้องรกสายตา แต่ถ้าอาจารย์จะต้องอาศัยภาพเพื่อทำงาน อาจารย์ก็ควรให้เกียรติคนที่เขาตั้งใจทำงาน ไม่ควรใช้คำว่า ซึ่งหมายถึงมิสแกรนด์ทุกคนทั้ง 77 จังหวัด

เขาผ่านการประกวด ตรวจสอบประวัติ และคุณสมบัติมาแล้วทุกจังหวัด โดยเกือบทั้งหมดมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัด มาเป็นประธาน และคำพูดที่ว่าเอาน้องสาวออกมาตากลมกันทั้งนั้นเลย ทำให้ตีความได้ว่าทุกคนนำส่วนนั้นออกมา ซึ่งมันไม่เป็นความจริงครับ

ส่วนที่น้องแต่ละจังหวัดพูดแนะนำจังหวัดที่เป็นเสียงสูง อาจารย์อาจจะยังไม่เคยเข้าไปชมในฮอลล์ ผมมั่นใจว่าใครที่ได้เข้าไปชม จะรู้ว่าเสียงกองเชียร์กว่า 5,000 คนที่ดังมาก มันทำให้ผู้เข้าประกวดพูดเบาไม่ได้ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของพวกเขาไป มีดาราหลายคนนำไปใช้ต่อในเชิงเอนเตอร์เทนเมนต์ ถ้าหน้างานไม่ตะโกน จะไม่มีวันได้ยินเสียงตัวเองเลย

เรื่องบางเรื่อง ผมว่าบางครั้งเราก็ต้องเข้าใจคนรุ่นใหม่ และให้พื้นที่ให้เขาได้คิดกันเองบ้าง เราคงคิดแทนคนทุกคนไม่ได้ และที่สำคัญจะให้คนทุกคนรุ่นใหม่ๆ มาทำเหมือนความคิด หรือสิ่งที่คนรุ่นก่อนอย่างผม หรืออย่างอาจารย์ต้องการคงไม่ได้ การประกวดนางงามก็มีหลายรูปแบบครับ และก็หลายยุคหลายสมัย มันจะเปลี่ยนแปลงไปตามโลกาภิวัตน์ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราทำผสมผสาน เพื่อให้คนรุ่นใหม่และวัฒนธรรมรุ่นเก่าไปด้วยกันได้

ในปีนี้ทางตัวผมในฐานะมิสแกรนด์ไทยแลนด์ จึงได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 100 นวัตกรดีเด่นของประเทศไทย โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเป็นทางการ โดยเป็นที่ประจักษ์เด่นชัดว่า เป็นผู้ที่คิดสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้ จึงได้รับรางวัลนี้ หนังสือเล่มนี้อยู่ในห้องสมุดสำคัญๆ ทุกที่ครับ”

ปิดท้ายด้วยการชักชวนเชิงท้าทาย ขอแจกบัตรที่นั่ง VIP 2 ที่ให้ ดร.เสรี เข้ามาดูบรรยากาศภายในฮอลล์ ซึ่งกำลังจะจัดเวทีประกวดกันด้วย ซ้ำยังขอชี้แจงกรณี “ข้อมูลบิดเบือน” ที่ทางรายการหยิบเอาภาพ “สาวประเภทสองชาวคาบาเรต์” มาเผยแพร่ แต่อธิบายว่าเป็นการเดินขบวนคาร์นิวัลของ “มิสแกรนด์ ไทยแลนด์” ขณะเก็บตัวที่ภูเก็ตด้วยว่าเป็นข้อมูลเท็จ จึงพร้อมจะเอาผิดฐานทำให้ได้รับความเสื่อมเสีย จากการวิพากษ์วิจารณ์โดยใช้ภาพผิดๆ ในครั้งนี้ด้วย

กูรูจี้จุด คนดู “เสพเอาฮา” แต่อย่า “เกินงาม”

“ก็เหมือนเราๆ ท่านๆ นั่นแหละครับ ที่ดูเพื่อ "เสพความตลก" อย่างที่ผมมองว่าเขาทำแค่ให้ตลก ให้คนมีภาพจำขึ้นมา แค่อยากให้เวทีนี้ได้มีลายเซ็น โดยที่อาจจะไม่ได้ดูว่าน่าเกลียดหรือเปล่า แต่ขอให้ทำออกมาแล้วได้มีคลิป ได้มีคนแชร์ในโซเชียลฯ มีการจับการออกเสียงแต่ละจังหวัดมาตัดต่อ แชร์ต่อกันไป เหมือนเขาต้องการแค่นั้นแล้วจบ ซึ่งผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่เขาดูตรงจุดนี้ เขาก็ดูเพื่อเอาความตลกกันมากกว่า”

แห้ว-โสภณ ศรีสกุล อดีตแฟนพันธุ์แท้นางงามปี 2550 ช่วยวิเคราะห์จุดขายของเวทีสาวงามเวทีนี้อย่างตรงไปตรงมาผ่านปลายสาย ตามคำขอของ ทีมข่าวผู้จัดการ Live ตั้งสมมติฐานเอาไว้ว่า น่าจะเป็นเพราะณวัฒน์เคยอกหักจากการจัดการประกวด Miss Thailand World ให้แก่ทางช่อง 3 แล้วพอมีโอกาสอีกครั้งในการเข้ามาเป็นตัวตั้งตัวตีในเวที "Miss Grand Thailand" เจ้าตัวจึงยังคงอยากคงเอกลักษณ์จากเวทีระดับโลกหลายๆ อย่างเอาไว้ โดยอาจไม่ได้ดูว่าเมื่อนำมาใช้แล้ว จะเหมาะสมกับเวทีระดับชาติน้อยไปหรือเปล่า

“โดยเฉพาะกิมมิคเรื่อง "การออกเสียงขานชื่อประเทศ" ที่น่าจะได้มาจากเวที Miss Universe แต่พอเอามาใช้กับของไทยแล้ว มันกลับกลายเป็น "ความเกินพอดี" เพราะเวทีนางงามระดับโลก เขาจัดกันฮอลล์ใหญ่จริงๆ ในฮอลล์น่าจะมีคน 8,000 - 9,000 คนขึ้นไป แต่พอมาใช้กับความเป็นมิสแกรนด์ คนดูเราไม่ได้เยอะขนาดนั้น และมันก็ไม่น่าจะใช่การให้ขานชื่อแต่ละจังหวัดให้เสียงดัง เพราะเหตุผลว่าฮอลล์ใหญ่ด้วย แต่มันเหมือนกลายเป็นคนต่อไป ต้องขานให้ดังกว่า เพื่อให้ชนะเสียงของคนก่อนหน้านี้

และทุกครั้งที่มีการประกวดมิสแกรนด์ ผมจะเห็นเลยว่าอาจารย์ภาษาไทยที่ผมเป็นเพื่อนในโซเชียลฯ แกจะบ่นตลอดว่า "ภาษาไทยของฉันวิบัติหมดแล้ว" จากการตะโกนขานชื่อจังหวัดของผู้เข้าประกวด ทำให้ออกเสียงผิดไปหมด บางจังหวัดที่ชื่อยาวๆ ก็แบ่งวรรคตอนผิด หรือพูดด้วยน้ำเสียงไม่ชัด ห่วงแต่จะตะโกนอย่างเดียว ไม่ได้เน้นที่ความละเอียดอ่อนของภาษาไทยเลย”

ประเด็นเรื่อง “ชุดว่ายน้ำเว้าสูง” ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าหนักใจ “ผมไม่รู้ว่าจะใช้คำว่า "แรง" หรือ "ไม่มีรสนิยม" ดี” กูรูนางงามรายเดิมแสดงความคิดเห็นด้านลบเอาไว้ พร้อมๆ กับการสะท้อนมุมบวกที่เวทีนี้มี “แต่ถ้าพูดไปแล้ว ส่วนที่ดีเขามีนะครับเวทีนี้ เรื่องการเป็นตัวแทนของจังหวัด ซึ่งเขาสามารถนำเสนอความเป็นแต่ละท้องถิ่นได้ดีจริงๆ โดยเฉพาะแต่ละคอนเซ็ปต์ที่เขาเขียนออกมา รู้เลยว่าแต่ละคนตั้งใจจริงๆ”

“เรื่องชุดว่ายน้ำ ผมมองว่าไม่น่าจะเป็นการบังคับว่าให้ใครใส่แบบไหน ดังนั้น สุดท้ายแล้วผู้เข้าประกวดน่าจะมีวิจารณญาณในการเลือกชุดเอง ไม่งั้นถ้าเกิดผลออกมาว่าคุณได้เป็นตัวแทนของเยาวชนคนรุ่นใหม่ คุณอยากให้พวกเขาเป็นเหมือนอย่างที่คุณเป็นอยู่หรือเปล่า เราเป็นตัวแทนของคนในจังหวัด เราเป็นที่ 1 ในจังหวัดนั้นแล้ว เราสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่คนอื่นได้อีกเยอะมาก

เพราะฉะนั้น มันอยู่ที่การพรีเซนต์ตัวตนของแต่ละคนออกมาด้วยว่า คุณอยากให้มันเป็นแบบไหน ถึงแม้ว่ามันจะเป็นการแข่งขันก็ตาม แต่ก็อย่าให้ "ความคิดเชิงการแข่งขันด้านลบ" อย่าให้ความคิด "อยากเอาชนะ" มาทำให้ภาพที่ออกมาเปลี่ยนความเป็นตัวของตัวเองของแต่ละคนไปเลยดีกว่า”

อีกหนึ่งประเด็นที่กลายมาเป็นเรื่องฮาจากเวที ก็คือรางวัล "Top 20 นางงามรักแร้งาม" ที่มีการหยิบเอาภาพรักแร้ของผู้เข้าประกวดทุกคนมาประชันความขาว และมอบรางวัลจากสปอนเซอร์เจ้าของผลิตภัณฑ์ให้ ซึ่งเป็นประเด็นที่กูรูนางงามรายนี้ได้แต่หัวเราะรับด้วยความเพลียใจ และให้คำตอบได้เพียงแค่ว่า “น่าจะเป็นสิทธิของนางงามมากกว่าว่า ใครอยากประกวดรักแร้ขาว หรืออยากจะสวมชุดว่ายน้ำโป๊ๆ หรือเปล่า น่าจะมีหลายๆ ตัวเลือกให้นางงาม ในเมื่ออยากให้ได้คนที่เป็นตัวของตัวเอง”

“ถ้ามองผลลัพธ์ที่ผู้ชนะ ผมก็ยังมองว่าอยู่ในกรอบของคำว่า "นางงาม" อยู่ดีแหละครับ ลองสังเกตดูว่าผู้เข้าประกวดที่นำเสนอตัวเองด้วยท่าทางตลกๆ เข้ามาแล้วเหมือนโดนป้ายยา ดีดเกินมนุษย์ ส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้รับตำแหน่งอยู่ดี สุดท้ายแล้ว คนที่จะถูกเลือกก็คือคนที่ไม่ได้ดีด หรือไม่ได้ออกเสียงรุนแรงอะไรมาก

ส่วนเรื่องโป๊-ไม่โป๊ นางงามที่ได้รับตำแหน่งจากเวทีมิสแกรนด์ ก็อาจจะมีโป๊บ้างเป็นเอกลักษณ์ของเขา ซึ่งผมก็มองอย่างเข้าใจ มันให้ความรู้สึกเหมือนเป็น "เวทีสาวประเภทสองในร่างผู้หญิง" ไปแล้ว เพราะหลายๆ อย่างมันก็สุดเกินไป ไม่เคยคิดเลยเหมือนกันว่าผู้หญิงจะเป็นแบบนี้ได้

แต่ถ้ามองจากจุดที่ว่า สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเวทีนี้หรือเวทีไหน เขาก็ตั้งใจจะคัดคนที่ดำรงตำแหน่งขึ้นมา เพื่อให้ได้นางงามคุณภาพ ก็คงจะยังตอบโจทย์นั้นอยู่ครับ และเวลาผมดูเวทีประกวด ผมก็ไม่ได้เหมารวม แต่จะมองแยกไปเลยว่า เวทีมิสแกรนด์ก็คือนางงามอีกลักษณะนึงนะ แต่สำหรับคนที่เหมารวมว่านางงามจะต้องเป็นไปในลักษณะเดียวกันหมด เขาก็อาจจะมองติดภาพลบไป

สุดท้ายแล้ว ผมมองว่าไม่ว่าคนจะมองว่าผู้เข้าประกวด หรือนางงามแต่ละเวทีเป็นยังไง แต่คนที่กำลังทำหน้าที่ของตัวเองอยู่ เป็นตัวแทนของจังหวัดของคุณ ของประเทศของคุณ ก็แค่ต้องทำตัวต่อไปจากนี้ให้ดี ก็คงไม่มีใครว่าอะไรอยู่แล้วล่ะครับ ถ้าบางอย่างมันไม่ "เกินงาม" เกินไปนัก”