Inside Dara
อรวี สัจจานนท์ กับความฝันที่ยังคงรอวันเป็นจริง!?

นับเป็นศิลปินที่เข้ามาเชื่อมรอยต่อของ บทเพลงอมตะ ได้อย่างน่าชื่นชม ในขณะที่หลายคนเลือกที่จะสนใจงานตามยุคสมัย แต่ อรวี สัจจานนท์ เลือกที่จะไม่เหมือนใคร.. เมื่อมีโอกาสเปิดทางให้เธอรีบคว้าไว้ และถึงวันนี้ก็ยังไม่อาจปล่อยให้ขาดหายไปจากชีวิตประจำวัน!!

“ทุกวันนี้ยังคงทำงานอยู่กับเสียงเพลงค่ะ รับงานโชว์ตัวร้องเพลง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงขึ้นคอนเสิร์ตที่ส่วนใหญ่เป็นศิลปินรับเชิญ แต่ถ้ามีวันว่างเพลินๆ ก็จะไปทำบุญค่ะ ตรงนั้นเป็นความสุขทางใจของเรา”

ศิลปินเสียงหวาน อรวี สัจจานนท์ เผยถึงความเป็นไปในปัจจุบัน ระหว่างที่เธอกำลังเตรียมตัวขึ้นคอนเสิร์ตใหญ่ กล่อมกรุง ๒ ในวันที่ 10-11 ตุลาคมนี้ ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ โดยให้โอกาสได้ทำความรู้จักกับตัวตนของเธอ หลังเดินบนเส้นทางสาย นักร้องลูกกรุงมาครบ 30 ปี!!

“เพราะความชอบร้องเพลง และมีความสามารถด้านนี้ สมัยที่เป็นเด็กหญิงอรวี ก็จะถูกคุณครูมอบหมายให้ทำโน่นทำนี่อยู่บ่อยๆ ค่ะ แต่ด้วยความที่เป็นลูกคนจีน ที่บ้านค่อนข้างหัวโบราณ ก็จะไม่ค่อยชอบที่ลูกสาวมาร้องเพลงสักเท่าไหร่ เพราะสมัยนั้นเขามองอาชีพนี้เป็นอาชีพเต้นกินรำกิน ซึ่งต่างกับสมัยนี้โดยสิ้นเชิง สมัยนี้พ่อ-แม่สนับสนุน ผลักดันมากแต่ตอนนั้น เราชอบของเราอย่างนั้น เวลามีงานโรงเรียนคุณครูก็จะมอบหมายให้เราเป็นคนออกหน้า เราก็ต้องไปขออนุญาตเตี่ย ซึ่งนานมากกว่าเตี่ยจะให้หรือบางทีก็ไม่ให้ จนตอนหลังแอบไปประกวดที่สยามกลการได้รางวัลนักร้องดีเด่น ถึงได้บอกให้ที่บ้านทราบค่ะ”

ทางเรียนถูกปิดโอกาส แต่ทางร้องเปิดกว้าง

“ตอนแรกเรียนจบมัธยมที่โรงเรียนหอวังด้านศิลป์-ภาษาฝรั่งเศสค่ะ ชอบเรียนหนังสือเพราะตอนเรียนจัดอยู่ในเกณฑ์เรียนดี สอบได้ที่ 1 ที่ 2 แต่เพราะที่บ้านเป็นคนจีน พอไม่ได้เรียนต่อ เราก็คิดว่าเราชอบทางร้องเพลง ก็เลยหันมาร้องเพลง แล้วก็แอบไปประกวดพอหลังประกวดสยามกลการได้รางวัล ก็มีทีมงานมาบอกว่ากำลังหานักร้อง ร้องเพลงสุนทราภรณ์อยู่นะ สนใจไหมเราก็สนใจ จนได้ไปลองคุย และเซ็นสัญญาเป็นนักร้อง”

แหวกกระแสวงการเพลง

“ออกอัลบั้มแรก “เยื่อไม้” ได้รับผลตอบรับดีเลยค่ะ เหมือนแหวกกระแสเพลง เพราะตอนนั้นเพลงสมัยใหม่กำลังบูม แต่เราเป็นเด็กมาก ที่มาร้องเพลงเก่า ช่วงแรกก็จะมีบ้าง ที่รุ่นผู้ใหญ่อาจจะรู้สึกไม่ใช่ ไม่ชอบ ที่เห็นเด็กมาร้องเพลงรุ่นนี้ แต่ตอนหลังก็ค่อยๆ ได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ”

จากไม่จริงจัง เริ่มเป็นหลักเป็นฐาน

“บอกตามตรงว่าไม่เคยใฝ่ฝันว่าวันหนึ่ง ฉันจะต้องเป็นนักร้อง มีชื่อเสียงโด่งดัง เพราะฉะนั้นเรื่องยึดเป็นอาชีพก็ไม่ได้คิดค่ะ แต่ด้วยความที่เรารักการร้องเราก็ทำมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นอาชีพ หลายครั้งเคยคิดอยากจะเลิกร้อง แล้วหันไปทำอย่างอื่น แต่ก็ไม่ได้ค่ะมีแฟนเพลงมาบอกอย่าเพิ่งเลิกนะ อย่าเพิ่งหยุด”

เหตุที่อยากเลิกร้อง

“ด้วยนิสัยส่วนตัวนะค่ะ บอกตามตรงว่าไม่ใช่คนที่ชอบสังคม แสงสีเสียง คนเยอะ ความวุ่นวายเป็นคนชอบ สงบ เรียบง่าย บางทีเจออะไรที่กระทบใจเสียใจ ก็มีคิดอยากเลิกเหมือนกันค่ะ แต่พออยู่ตรงนี้กลายเป็นอาชีพไปแล้ว คิดจะเลิก จะเลิก สุดท้ายก็กลับมาอยู่ตรงนี้เหมือนเดิม จะให้เราไปทำอย่างอื่น เราก็ไม่ถนัด เป็นคนขายของไม่เป็นค่ะ(มีคนมาชวนบ้างไหม?) มีค่ะมาชวนทำโน่นทำนี่เยอะแยะมากมาย แต่เราเป็นคนทำธุรกิจไม่เป็นไม่มีหัวธุรกิจเลย ตอนเรียนก็ตกเลขถ้าวิชาศิลปะล่ะก็คะแนนเต็มจนล้นเลย (หัวเราะ)”

สานต่อความชอบที่ขาดหาย

“อย่างที่บอกค่ะ ว่าชอบเรียนหนังสือ ตอนหลังพอมีเวลา ก็เลยอยากที่จะกลับไปเรียน ก็ได้ไปลงเรียนต่อจนจบปริญญาตรี ด้านนิเทศฯประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร จบเมื่อปีพ.ศ.2544 ค่ะ (จะเรียนต่ออีกไหม?) ยังคิดอยู่เหมือนกันค่ะ ว่าจะไปเรียนต่ออีกดีไหม อยากเรียนต่อโทค่ะ แต่ไม่แน่ใจว่าจะไหวไหม(หัวเราะ)”

คิดอยากเปลี่ยนแนวเพลง

“สมัยแรกๆ มีคิดค่ะ ว่าอยากร้องเพลงวัยรุ่นบ้าง ตามธรรมดาของวัยรุ่นนะคะ แต่ว่าตอนนั้นพี่เต๋อ (เรวัต พุทธินันทน์) บอกว่า “อยู่ตรงนี้อรวี ไม่ต้องเปลี่ยนแนวไปไหน” พี่เต๋อมองว่าเราต้องอยู่ตรงนี้ก็เลยอยู่ตรงนี้มาตลอดค่ะ คือโดยส่วนตัวรักเพลงเก่าอยู่แล้ว แต่ว่าตามประสาเด็กในตอนนั้น ก็อยากลองร้องเพลงใหม่ ร้องเพลงของตัวเองบ้าง แต่พี่เต๋อมองว่าเราเหมาะกับตรงนี้ที่สุดแล้ว ไม่ต้องคิดเปลี่ยนตามกระแส ซึ่งเรียนตรงๆ นะคะ ว่าทำตรงนี้ ไม่ได้มีกำไร มีรายได้ยอดขายถล่มทลาย แต่ว่าค่อยๆ ไปเรื่อยๆ ไม่ได้มียอดพุ่ง อย่างเพลงสมัยใหม่ แต่ค่อยๆ ซึมซับ เป็นมรดกต่อไปค่ะ”

มองนักร้องรุ่นเก่า ต้นฉบับเพลงลูกกรุง

“ทุกท่านเป็นผู้มีพระคุณค่ะ เพราะอรวีนำเพลงของท่านมาร้องเกือบหมดทุกคนค่ะ ของผู้ชายก็มีถือว่าท่านเป็นผู้มีพระคุณ ที่ทำให้มี อรวี สัจจานนท์ทุกวันนี้ (สิ่งที่ได้จากครูเพลงแต่ละท่าน?) เราซึมซับมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วค่ะ เรารักเพลงเก่า รักนักร้องต้นฉบับ พอวันหนึ่งเราได้มาร่วมงานกับท่านได้ร่วมร้องกับคุณอาชรินทร์ (ชรินทร์ นันทนาคร)ออกอัลบั้มคู่เคียงสำเนียงรัก เราก็ปลื้มมากค่ะ เพราะท่านเป็นนักร้องดังตั้งแต่สมัยที่เรายังไม่เกิดด้วยซ้ำรู้สึกว่าเรามีบุญในส่วนนี้ ที่ได้ทำในสิ่งที่รัก ได้เจอคนที่ไม่เคยคิดว่าจะได้มาอยู่ท่ามกลางรุ่นครู อรวีเป็นเหมือนลูกหลานท่านค่ะ อย่าคิดเทียบชั้นเลย คิดว่าเรามีบุญค่ะ ที่ได้มาร่วมงานกับตัวจริงต้นฉบับ ซึ่งแต่ละท่านให้ความรัก ความเมตตามากๆ เป็นความสุขอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เราอยู่จนทุกวันนี้ อีกส่วนสำคัญคือแฟนเพลง สำคัญมาก เพราะเขาเป็นกำลังใจให้เรามาตลอดค่ะ”

30 ปีกับการเป็นนักร้องลูกกรุง

“เริ่มเป็นอมตะแล้วเหมือนกัน (หัวเราะ)ใกล้จะเข้าข่ายแล้วค่ะ ผ่านมา 30 ปี รู้สึกตัวเองเริ่มๆ แล้วเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ที่ผ่านมาได้ความสุขให้กับตัวเองเยอะมากค่ะ เห็นคนฟังเพลง ชอบผลงานและมีความสุขกับเสียงเรา ก็ทำให้เราสุขแล้วหลายคนบอกเราทำบุญนะ ทำให้คนฟังมีความสุขเราได้ยิน ก็ดีใจค่ะ ที่มีโอกาสตรงนั้น เรื่องของรายได้ เราก็พอใจของเราแบบนี้ค่ะ ไม่ได้คิดว่าฉันจะต้องมีเยอะรวยล้นฟ้า เพราะอรวีเป็นคนอยู่กับชีวิตจริง เป็นคนที่ใช้จ่ายตามสมควร ไม่เว่อร์ตามกระแส แล้วที่สำคัญเราไม่ประมาท เราพอมีพอกิน พออยู่สบาย ก็โอเคแล้ว (ศิลปินหลายท่านลำบากในบั้นปลาย?) ได้มองตรงนั้นค่ะ ถึงทำให้เราไม่ประมาท และจริงๆ อรวีไม่ใช่คนฟุ้งเฟ้ออะไรอยู่แล้วด้วย แค่อยากทำงานแบบมีความสุขที่ได้ทำไม่ใช่ทำงานแบบที่เราต้องทำ ถ้าไม่ทำแล้วไม่มีกิน แบบนั้นเราไม่อยากเป็นค่ะ”

เรื่องของสุขภาพร่างกาย

“ดูแลตัวเอง และระวังตัวเองตลอดค่ะ เพราะมีกรรมพันธุ์เรื่องของเบาหวานอะไรบ้างก็ต้องระวังเป็นพิเศษ ทานอาหารสุขภาพ ออกกำลังอยู่ประจำ แต่จะมีปัญหาเรื่องของการนอน เป็นคนนอนยากค่ะ หลับยากตื่นง่าย ตื่นแล้วต่อไม่ติดเพราะฉะนั้นเวลาที่มีงาน แล้วต้องพักผ่อนให้เพียงพอเราก็จะวิตกละ กลัวว่าพรุ่งนี้เสียงไม่ดี ทำงานให้เขาได้ไม่เต็มที่ พอยิ่งวิตกก็ยิ่งไม่หลับค่ะ ตอนหลังก็ปรึกษาคุณหมอใช้ยานอนหลับช่วยบ้างในบางครั้งค่ะ”

ชีวิตมีครบทุกอย่างแล้วหรือยัง?

“เรียนก่อนว่า เป็นคนไม่เคยคาดหวังค่ะเพราะฉะนั้นเราก็ไม่รู้ว่าเราได้ครบหรือยังเหมือนอย่างเรื่องร้องเพลง ก็ไม่เคยฝันแต่ก็ได้มาเป็นอาชีพที่ดูแลเรา ดูแลครอบครัวได้ และเราทำให้คนฟังมีความสุข พอแล้วค่ะ”

“แต่ถ้าถามว่า พอมาเป็นอรวี สัจจานนท์แล้วมีความฝันไหม? มีค่ะ คือเราเสียดายเพลงเก่า เพลงดีๆ ที่ถ้าตามสัจธรรมความจริง คือทุกคนต้องจากไป แต่ไม่อยากให้เพลงตายตามคนร้อง อรวี สัจจานนท์มีความฝันที่อยากทำเพลงเก่า ที่ท่านเจ้าของเพลงเก่า ท่านไม่อยู่แล้ว อยากทำขึ้นมาเป็นมาสเตอร์ดีๆ เก็บไว้ เหมือนเป็นอีกหนึ่งเจเนอเรชั่น ที่จะให้น้องๆ รุ่นหลังๆได้ฟัง ไม่ได้คิดเทียบนะคะ ต้องย้ำเลยว่าไม่ได้คิดที่จะเทียบของเก่า เพราะว่าไม่มีทางที่จะไปดีกว่าของเก่า แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป และเรื่องของจังหวะที่เราปรับกันเสมอ คือให้เร็วขึ้น เร็วกว่าต้นฉบับ แต่สิ่งที่อรวีไม่ทำ คือ การเปลี่ยนเนื้อร้อง เปลี่ยนทำนอง ตรงนี้จะคงไว้ไม่ให้ผิดเพี้ยนไปจากของเดิม ส่วนลีลาอารมณ์เป็นเรื่องของเรา การตีความของเราแต่ก็จะไม่ได้ทิ้งของเก่า ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เรื่องของซาวนด์อะไรจะดีกว่า ต้องบอกอย่างหนึ่งว่าบ้านเราไม่ค่อยนิยมของเก่า ไม่นิยมคนเก่าไม่เหมือนต่างประเทศ อยากเหลือเกินให้เปลี่ยนค่านิยมตรงนี้ได้ไหม ให้เรารักเพลงไทย รักคนเก่าให้คุณค่ากับเขา เด็กสมัยใหม่เขาไม่รู้หรอกว่าเรามีเพลงเพราะๆ อย่างนี้ด้วยนะ ภาษาสุดยอดเป็นภาษากวี มีสัมผัสนอกสัมผัสใน โคลง ฉันท์กาพย์ กลอน เด็กสมัยใหม่เขาไม่รู้ว่ามี แต่ถ้าเราทำให้ร่วมสมัยมากขึ้น ให้เด็กรุ่นนี้ได้มีโอกาสฟังเขาจะได้รู้ว่ามีเพลงเพราะๆ เป็นสมบัติของชาติอยู่ที่อยากทำตรงนี้ เพราะไม่อยากให้เพลงเก่าตายไปค่ะ แต่ทำเองคงไม่ไหว เพราะเราไม่ใช่คนทำธุรกิจ เราเป็นคนทำเพลง เคยทำเองก็บาดเจ็บมาแล้ว เรื่องของเทปผีซีดีเถื่อนก็มีมานาน เรื่องของการฟังเพลงก็เปลี่ยนเป็นเรื่องของดาวน์โหลดหมดละ ซึ่งเราไม่รู้จะทำยังไง แต่ถ้าทำตรงนี้ต้องลงทุนเยอะมากค่ะ เพราะว่าค่าลิขสิทธิ์แพง ใครที่บอกว่า อรวี สัจจานนท์ ร้องเพลงเก่าเยอะมากเป็นพันๆ เพลง แต่ยังมีเพลงเก่าอีกเยอะ ที่น่าเสียดาย ถ้าจะหายสาบสูญไปค่ะ”

เชื่อว่า..ไม่ได้มีแค่ อรวี สัจจานนท์ เท่านั้น ที่มีความฝันในเรื่องนี้ คงจะดีไม่น้อยถ้ามีคนคิดเก็บรวบรวมเพลงเก่าเป็น บันทึกวรรณกรรม เพื่อมอบเป็น สมบัติของแผ่นดิน สืบไป!!