Inside Dara
"มีรอยสัก" เป็นตำรวจได้ไหม? ไขสงสัย ทำไม "ผู้กองสงกรานต์" ลายเต็มแขน

ไม่ใช่ประเด็นที่จะมาดราม่าใดๆ แต่เป็นเรื่องที่ชายไทยใฝ่ฝันอยากจะเป็นตำรวจรับใช้ชาติ "ต้องรู้" อะไรทำได้ หรืออะไรทำไม่ได้? เพราะขึ้นชื่อว่า ระเบียบข้อบังคับของราชการไทย มันต้องเป๊ะ! โดยเฉพาะรอยสักนอกร่มผ้าที่มีขนาดใหญ่โตเว่อร์วัง ควรมีได้ไหม เหมาะสมหรือไม่? โดยเฉพาะรอยสักสวยๆ บนท่อนแขนล่ำๆ ของ "ร.ต.อ.สงกรานต์ เตชะณรงค์" ถือว่าผิดกฎไหม ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร วันนี้ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ จะมาแจกแจงให้ทราบกัน

- หลักเกณฑ์ รอยสัก บนเรือนร่างตำรวจ -

ตามประกาศของโรงพยาบาลตำรวจ กำหนดกรอบดุลยพินิจ พิจารณาวินิจฉัยการตรวจร่างกายฯ ฉบับลงวันที่ 5 พ.ย.2558 ข้อ 3.1 รอยสักมีได้ แต่รวมทุกส่วนของร่างกายแล้ว ต้องมีขนาดไม่เกิน 16 ตารางเซนติเมตร โปรดอ่านอีกครั้ง “รอยสักมีได้ แต่รวมทุกส่วนของร่างกายแล้ว ต้องมีขนาดไม่เกิน 16 ตารางเซนติเมตร”

รอยสัก สมัครตำรวจ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างชัดเจนถึงระเบียบเข้ารับราชการ ซึ่งจริงๆ แล้ว นอกจากรอยสัก ยังรวมถึง ไฝ ปาน แผลเป็น หูด หรือซีสต์ด้วย ผู้ชายที่เจาะหู ระเบิดหู ห้ามนะครับ ไม่ผ่านการตรวจร่างกาย เว้นแต่ปล่อยตัน หรือเย็บติดสนิทแล้ว ส่วนผู้หญิงแล้วแต่ดุลยพินิจของคุณหมอ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การตรวจร่างกายทั้งหมด คุณหมอ รพ.ตร. จะเป็นผู้ตรวจและชี้ขาด

- ตำรวจพูดกันเองว่า หลังเข้ามาเป็นแล้ว สามารถสักรอยได้ -

จากการสอบถามข้าราชการตำรวจหลายนาย ให้ข้อมูลตรงกันว่า ก่อนที่จะสมัครเข้ามาเป็นตำรวจนั้น ขั้นตอนการตรวจสอบร่างกายต้องปราศจากรอยสักใดๆ แต่เมื่อเข้ามารับราชการแล้ว พบว่าตำรวจหลายนายได้สักลายลงบนผิวหนังขนาดใหญ่เกิน 16 ตารางเซนติเมตร แต่มิได้ถูกผู้บังคับบัญชาต่อว่า หรือโดนสั่งห้าม หรือตั้งกรรมการสอบวินัยใดๆ หากไม่มีลักษณะใหญ่โตจนน่าเกลียด และอยู่ใต้ร่มผ้า นั่นหมายความว่าน่าจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

- ศาล ปค. สั่งรีบคืนสิทธิให้หนุ่มมีรอยสัก สอบติด ตร. -

ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองกลางเป็นให้เพิกถอนประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกในการรับสมัครและคัดเลือกบุคคลภายนอกผู้มีประกาศนียบัตรประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่า เพื่อบรรจุเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ พ.ศ.2555 ลงวันที่ 24 ต.ค.2555 เฉพาะส่วนที่ให้ "นายดำรงศักดิ์ หรือ ณรงค์ โพธิษา" ไม่ผ่านการตรวจร่างกายโดยให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่ออกคำสั่ง ให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ดำเนินการคืนสิทธิในฐานะผู้สมัครสอบที่สอบผ่านข้อเขียน สมรรถภาพและผ่านการตรวจร่างกายแล้วให้นายดำรงศักดิ์ ทดสอบความเหมาะสมกับตำแหน่ง (สอบสัมภาษณ์) ตามที่ประกาศรับสมัครฯ ลงวันที่ 2 เม.ย. และหลักเกณฑ์ที่กฎหมายหรือระเบียบในเรื่องดังกล่าวกำหนดและประกาศผลสอบ เฉพาะส่วนของนายดำรงศักดิ์ต่อไปภายใน 60 วัน นับจากวันที่คดีถึงที่สุด

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากนายดำรงศักดิ์ได้สอบผ่านข้อเขียนเพื่อบรรจุเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจประจำปี 2555 สายป้องกันและปราบปราม (บช.น.5) ได้ผ่านการทดสอบความเหมาะสมกับตำแหน่งภาคทดสอบสมรรถภาพร่างกายแล้ว แต่เมื่อเข้าตรวจร่างกายกลับได้รับแจ้งผลวินิจฉัยว่ามีรอยสักที่ขัดต่อหลักเกณฑ์การบรรจุเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ จึงมีหนังสือขอให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ทบทวนการตรวจร่างกายใหม่ แต่กลับมีการยืนยันผลการวินิจฉัยเดิม และมีผลไม่ผ่านการตรวจร่างกาย นายดำรงศักดิ์จึงฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนผลการประกาศผลการคัดเลือกและให้ผู้ฟ้องคดีผ่านการตรวจร่างกาย

- รอยสัก บนแขนล่ำๆ ของ ร.ต.อ.สงกรานต์ เตชะณรงค์ -

นอกจากร่างกายที่กำยำ กล้ามเป็นมัดๆ เตะตาประชาชนทั้งประเทศแล้ว ร.ต.อ.สงกรานต์ เตชะณรงค์ ยังมีรอยสักขนาดใหญ่อยู่บนแขนข้างขวา จากบ่ายาวมาจนถึงข้อแขน ทั้งหมดนี้แค่ส่วนที่อยู่นอกร่มผ้า และเจ้าตัวเองตั้งใจโชว์ให้เห็นชัดเจน ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่า ร.ต.อ.สงกรานต์ ได้สักตั้งแต่ก่อนเข้ามารับราชการตำรวจ หรือว่าสักภายหลังเข้ามารับราชการ แต่ที่แน่ๆ ขนาดของรอยสักใหญ่กว่า 16 ตารางเซนติเมตร ค่อนข้างแน่นอน

ที่ผ่านมา เราจะเห็นข้าราชการตำรวจมีรอยสักที่เห็นกันเด่นชัดหลายนาย แต่ยังไม่มีผู้บังคับบัญชาระดับสูงคนไหนออกมาพูดถึงความเหมาะสมและกฎระเบียบที่ชัดเจน ว่ามีได้ หรือมีไม่ได้ "สมควร" หรือ "ไม่สมควร" ที่สำคัญแม้ว่าทางทีมข่าวเจาะประเด็นจะพยายามติดต่อพูดคุยขอข้อมูล แต่ยังไม่มีใครสามารถบ่งชี้ได้ชัดเจนถึงคำตอบของเรื่องนี้.