Inside Dara
สุดอาลัย สวลี ผกาพันธุ์ สิ้นใจ เผยประโยคสุดท้ายบนเวที

สิ้นใจอย่างสงบ "สวลี ผกาพันธุ์" นักร้องเสียงสวรรค์ในตำนาน ด้วยโรคลมปัจจุบัน อายุ 86 ปี ที่บ้านพัก สวดอภิธรรมศพวัดธาตุทอง ถึง 8 พ.ค. นี้

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 1 พ.ค. บรรดาบุคคลสำคัญ อาทิ ศิลปินแห่งชาติ นักร้อง นักแสดงชื่อดังต่างโพสต์ข้อความแสดงความอาลัยต่อการจากไปของ "สวลี ผกาพันธุ์ เศวตนันทน์" อดีตนักร้องชื่อดัง วัย 86 ปี ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) พ.ศ. 2532 ที่จากไปอย่างสงบ ภายในบ้านพักซอย 101/1 วชิรธรรมสาธิต ถนนสุขุมวิท เขตพระโขนง

ก่อนเกิดเหตุช่วงหัวค่ำ นางสวลี ได้ร่วมรับประทานอาหารกับลูก และหลานที่บ้าน จากนั้นเวลาประมาณ 20.00 น. จึงบอกว่าจะไปกินยานอน หลังจากนั้นคนในบ้านได้ยินเสียงสะอึกเหมือนหายใจไม่ออก จึงเข้าไปดูในห้องนอนชั้นล่าง พบว่า นางสวลี แน่นิ่งไปแล้ว ก่อนที่ลูกจะพยายามช่วยปั๊มหัวใจอยู่นาน 30 นาที แต่ไม่เป็นผล จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่นำส่งโรงพยาบาลสมิติเวชและเสียชีวิตลงในที่สุด

ต่อมา เมื่อวันที่ 2 พ.ค. นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้รับแจ้งว่า นางเชอร์รี่ เศวตนันทน์ หรือ สวลี ผกาพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) พุทธศักราช 2532 ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคลมปัจจุบัน เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 20.30 น. ที่บ้านเลขที่ 403 ซอย 101/1 ถนนสุขุมวิท เขตพระโขนง สิริอายุ 86 ปี

อธิบดี สวธ.กล่าวต่อว่า สำหรับการบำเพ็ญกุศลนั้น กำหนดสวดพระอภิธรรมศพระหว่างวันที่ 3-8 พ.ค. เวลา 19.00 น. ณ ศาลาพระครูประจักษ์ วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ จากนั้นจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศล 100 วัน และสวธ. จะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพต่อไป ขณะเดียวกัน สวธ. มอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพจำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท

"การจากไปของสวลี ผกาพันธุ์ ครั้งนี้ ถือเป็นการสูญเสียศิลปิน นักร้องคนที่สำคัญยิ่งในวงการเพลงลูกกรุงของประเทศไทย ตั้งแต่เป็นศิลปินแห่งชาติ สวลี ผกาพันธุ์ ได้ทำงานในฐานะศิลปินแห่งชาติ อย่างน่ายกย่องยิ่ง ให้การช่วยเหลืองานของสวธ. กระทรวงวัฒนธรรม มาอย่างต่อเนื่อง เช่น ร่วมแสดงในคอนเสิร์ตต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสาธารณกุศล และยังมอบเงินรายได้จากการจัดคอนเสิร์ตเข้าสมทบกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม มาอย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ท่านยังมาร่วมร้องเพลงในงาน 236 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ที่ลานคนเมือง โดยร้องเพลงบ้านทรายทองและใครหนอ และเมื่อร้องจบ ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้ช่วยรับท่านลงจากเวที ท่านยิ้มและบอกว่า "แหม วันนี้ดีจัง เห็นทุกคนมีความสุข” นับเป็นการสูญเสียศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานแก่สังคมอย่างน่าเสียดาย" นางพิมพ์รวี กล่าว

ทั้งนี้ นายสมชัย กตัญญุตานันท์ หรือ ชัย ราชวัตร นักเขียนการ์ตูน คอลัมน์ ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน นสพ.ไทยรัฐ ได้เขียนโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ว่า ได้รับข่าวร้ายทางโทรศัพท์หลังเที่ยงคืน ตื่นจากความงัวเงียด้วยหัวใจหวิว ๆ ไม่อยากเชื่อหูว่าสิ้นแล้วสวลี ผกาพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติผู้กราบได้สนิทใจทั้งความสามารถ และความงดงามยิ่งทั้งกายและใจ ทำให้ใครได้อยู่ใกล้ก็เป็นสุข

ติดตามพี่รี่อยู่ห่าง ๆ ทางเฟซบุ๊ก เห็นร่าเริงแข็งแรงเดินทางท่องเที่ยวไปพร้อมอาจารย์วีณา เชิดบุญชาติเป็นประจำ ไม่มีวี่แววจะจากไปกะทันหันเช่นนี้ ติดใจในเสียงเพลงมาตั้งแต่ยังหนุ่ม ๆ ที่ให้อารมณ์เคลิ้มตามทุกครั้งที่ได้ฟัง ไม่คิดไม่ฝันวันหนึ่งจะได้รู้จักท่านเป็นส่วนตัว และซาบซึ้งที่ท่านติดตามให้กำลังใจทุกครั้งที่พบกัน "พี่อ่านการ์ตูนคุณชัยแกล้มกาแฟทุกเช้านะ"

พี่คงเหนื่อยมากโดยไม่มีใครรู้ หลับให้สบายเถอะนะครับ ขอให้พี่ได้ไปอยู่บนสรวงสวรรค์อบอวลด้วยกลิ่นหอมมวล"ผกาพันธุ์"หลากสีสันนะครับ ขอกราบด้วยใจครับ

ขณะที่ยังมี ศิลปินแห่งชาติอีกหลายคน ที่เขียนข้อความแสดงความเสียใจผ่านเฟซบุ๊ก อาทิ นายกมล ทัศนาญชลี โพสต์ข้อความว่า ด้วยความอาลัยยิ่ง ในการจากไปของ พี่สวลี ผกาพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ ปี 2532 ด้วยวัย 86 ปีเพิ่งทราบข่าวเมื่อไม่นานนี้ ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัว เช่นเดียวกับ นายเดชา วราชุน ที่เขียนข้อความ ขอแสดงความเสียใจด้วย

สำหรับประวัติ นางเชอร์รี่ เศวตนันทน์ หรือ สวลี ผกาพันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2475 ที่กรุงเทพมหานคร มีผลงานด้านศิลปะการแสดงหลายแขนง ทั้งการแสดงละคร การขับร้องเพลงไทยสากล และเพลงสากลตั้งแต่อายุ 17 ปีจนถึงปัจจุบัน ด้านการแสดงละคร ได้แสดงติดต่อกันให้คณะละครเวทีหลายคณะ โดยเป็นผู้แสดงนำ ฝ่ายหญิง ซึ่งเป็นบทที่ต้องแสดงและร้องเพลงด้วย

ต่อมาเมื่อละครเวทีได้คลายความนิยมลงได้แสดงและพากย์ภาพยนตร์หลายเรื่อง เมื่อมีสถานีโทรทัศน์เกิดขึ้น จึงได้มาแสดงละครและร้องเพลงทางโทรทัศน์ ผลงานดีเด่นเป็นพิเศษ คือ การขับร้องเพลง มีผลงานที่บันทึกแผ่นเสียงไว้ไม่น้อยกว่า 1,500 เพลง และได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำถึง 4 ครั้ง นับเป็นนักร้องหญิงที่ได้รับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำมากที่สุด และได้รับความนิยมอย่างสูงสุดเช่นกัน

นอกจากการร้องเพลงเป็นอาชีพแล้ว ยังร้องเพลงเพื่อการกุศลและในงานสังคมต่างๆ มาโดยตลอด นับว่าเป็นศิลปินที่ใช้ผลงานทางศิลปะให้ความบันเทิง และจรรโลงใจของคนในสังคมตลอดมา.