Inside Dara
น่ารู้! งานเสียงในหนังระดับโลก ไม่ง่ายอย่างที่คิด

ไม่เจ๋งจริงไม่พุ่งแรง เก่งก้าวไกลไประดับอินเตอร์นานหลายปีแล้ว ต้น อรรณพ ใจแก้ว อีกคนไทยคุณภาพแรง ที่มีโอกาสดีมากๆ ได้ร่วมงานกับดาราดังระดับโลก อาทิ ซุป'ตาร์ออสการ์ แมทธิว แม็คคอนาเฮย์, เพียร์ซ บรอสแนน อดีตเจมส์ บอนด์ 007, โอเวน วิลสัน, ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน นักบู๊ตัวพ่อระดับตำนาน ฯลฯ เคยร่วมงานกับผู้กำกับดังระดับโลกมากมาย อาทิ เควนติน แทแรนติโน่, Stephen Gaghan, Todd Phillps ฯลฯ

ล่าสุด ต้น อรรณพ คิวแน่นได้อีกๆ เตรียมทำหนังฮอลลีวูดอีกหนึ่งเรื่อง และหนังเยอรมันอีกหนึ่งเรื่อง เร็วๆ นี้ก็จะบินไปทำงานต่อที่ยุโรป ต้องปักหลักอยู่ที่นั้นประมาณ 4 เดือนเลย ส่วนผลงานหนังไทย ต้น อรรณพ ใจแก้ว ก็เคยทำเสียงให้กับหนังโดนแบนเรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย Shakespeare Must Die และมีผลงานโดดเด่นอีกเพียบ บรรยายไม่หมด (คลิกดูผลงานเด่นที่ผ่านมา)

บันเทิงไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปเปิดใจ ต้น อรรณพ ใจแก้ว กับการทำงานระดับโลกในหนังดังมากมายหลายชาติในตำแหน่ง ผู้บันทึกเสียง หรือ ซาวด์ เรคคอร์เดอร์ (Sound Recorder) เราจะไปคุยกับเขาที่ซีเนมา โอเอซิส Cinema Oasis โรงหนังใหม่ที่เล็กแต่เด็ด แถวสุขุมวิท 43

ต้นเคยไปร่วมทำหนังมาเยอะมากๆ หลายประเทศเลย? "ครับ ได้ทำกับหนังฮอลลีวูดก็มีหลายเรื่องแล้ว ส่วนใหญ่ทำหนังยุโรปค่อนข้างเยอะครับ ประมาณ 20 เรื่องครับ" จริงๆ ทุกตำแหน่งหน้าที่ในทีมถ่ายหนังสำคัญหมด แต่ตำแหน่งผู้บันทึกเสียง หรือ ซาวด์ เรคคอร์เดอร์ (Sound Recorder) ที่เราทำอยู่ มันสำคัญกับหนังอย่างไร? "พูดง่ายๆ เวลาเราดูหนัง ถ้าเราปิดตาตัวเอง เราจะได้ยินเสียง เมื่อเสียงออกมาดี ทุกอย่างออกมาดี การดูการเข้าใจในหนังมันก็จะง่ายขึ้น

"ขั้นตอนแรกของการทำเสียงพูดเลยคือ ไดอะล็อก (Dialog บทสนทนาของนักแสดง) ต้องได้ยินเสียงที่เคลียร์ หลังจากนั้นแต่ละซีนคือความต่อเนื่องของการดีไซน์เสียง การดีไซน์เสียงคือการใส่เสียงเพลง เสียงเดิน เสียงลมหายใจ เสียงต่างๆ ฯลฯ อย่างมีบางซีนที่นักแสดงต้องถอดรองเท้า เพื่อไม่ให้ได้ยินเสียงร้องเท้า เสียงแอร์ เสียงพัดลม เสียงตู้เย็น และเสียงอื่นๆ เราต้องปิดหมด! ทุกอย่างต้องเคลียร์ก่อนแอ็กชั่น เพื่อไม่ให้มีเสียงอื่นมารบกวนได้

"ขบวนการต่อไปหลังจากที่จบในซีนนั้นๆ แล้ว เราก็จะมาอัดเสียงบรรยากาศ สมมติว่า เป็นงานเลี้ยงในห้องอาหารแห่งหนึ่ง บนโต๊ะอาหารจะมีคนคุยกันสักประมาณ 3-4 คน นักแสดงก็จะเล่นไปแบบเล่นเงียบไม่มีเสียง ก็คือจะได้ยินแค่บทคุยของนักแสดงเท่านั้น ไม่มีเสียงช้อน เสียงจาน หรือเสียงอะไรเลยทั้งสิ้น เพื่อจะได้เสียงพูดที่มันชัดเจนและดี!

"หลังจากนั้นเมื่อจบซีนนั้นไปแล้ว ก่อนที่เราจะขยับไปถ่ายอย่างอื่น ขั้นตอนนี้คือการอัดเสียงคนคุยแล้ว คนข้างหลังแบ็กกราวนด์ (Background) เพื่อจะไปใส่แบ็กกราวนด์แยกต่างหาก เช่น เสียงคุย เสียงแก้ว เสียงต่างๆ ฯลฯ มันต้องอัดแยกๆ กันไป" ไม่ใช่อัดเสียงครั้งเดียวจบ? "ไม่ใช่ครับ"

"พอเราได้เสียงจากโลเกชั่นแล้ว เราเรียกโลเกชั่นซาวนด์ (Location Sound) ทุกอย่างคือเสียงจริงที่เราถ่าย จะมีเสียงที่ปรุงแต่งขึ้นมาในสตูดิโอในขั้นตอนโพสต์ โปรดักชั่น (Post Production) คือหนึ่งเพลง เสียงเอฟเฟกต์หลายๆ อย่าง มันจะทำให้แต่ละซีนในหนังนั้นสมบูรณ์แบบมากขึ้น เช่น เสียงรถที่สตาร์ตเครื่อง ดับเครื่อง ฯลฯ บางทีเราต้องดีไซน์เสียงใหม่

"เสียงในโลเกชั่นเป็นเสียงที่จริง แต่เมื่อไหร่ที่เราไปดูในหนังตอนที่ทำเสร็จแล้ว บางทีจะเป็นเสียงใหม่นำมาใส่ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของซีนนั้น เพื่อให้ไปอีกซีนหนึ่ง เขาเรียกว่าซาวนด์ดีไซน์ (Sound Design) ซึ่งเป็นอีกแผนกหนึ่ง ที่เราต้องไปบอกเขาว่าเราต้องการเสียงแบบไหน

"หลังจากนั้นเมื่อเราได้องค์ประกอบครบแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายของการทำเสียงประกอบในหนัง คือเพลงเป็นสกอร์ (Score) ในแต่ละซีน ซึ่งในแต่ซีนก็จะมีอารมณ์ของหนังอยู่แล้ว คราวนี้เราต้องมาเลือกชนิดของเครื่องดนตรี ว่าเราจะใช้เสียงของเครื่องดนตรีไหน เพื่อให้เหมาะกับซีนนั้นๆ จะใช้เปียโน ไวโอลิน กีตาร์ ฯลฯ อย่างผมเคยทำหนังให้กับ เควนติน แทแรนติโน่ The Man With The Iron Fists เป็นซีนฆ่ากันที่มีเลือดออกมา มันดูน่ากลัว เราก็ใช้เสียงเพลงมาทำให้เป็นสิ่งสวยงาม เราทำให้บีตของฮิปฮอปในการเล่าเรื่อง ให้หนังดูไม่โหดร้ายจนเกินไป ซึ่งผมว่านี่คืองานศิลปะอีกอย่างหนึ่ง"

"อย่างหนังเรื่องหนึ่ง ที่ผมได้ทำกับผู้กำกับ จนประสบความสำเร็จ ในด้านดนตรียุค 80-90 เราได้นั่งคุยกันว่า อยากได้เสียงในหนังเป็นยุคร็อกแอนด์โรลล์ในยุค 80 ซึ่งมันไม่ค่อยมีคนนำมาใช้ เราอยากจะนำมาใช้ในหนัง เพื่อให้มีกลิ่นอายของดนตรีซึ่งทำออกมา ก็เข้ากันด้วยดีกับหนังและเป็นที่ยอมรับได้ ผมมองว่างานบันทึกเสียงก็เป็นงานอาร์ตอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน ไมโครโฟนก็คือพู่กันวาดภาพให้สวยงาม"

กว่าจะได้เสียงแต่อย่างที่เราเห็นในหนัง ยากอยู่นะ? "อย่างวิธีเอาของมากันเสียงนำ้หล่นใส่หลังคา คือธรรมชาติของนำ้หรือเครื่องทำฝนเทียม เมื่อเครื่องปั๊มน้ำทำงานจะมีเสียงดัง เราจะต้องสั่งเครื่องปั๊มนำ้จากออสเตรเลียเป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ไม่ได้ยินเสียงเครื่อง

"เมื่อปั๊มนำ้ทำงานจะส่งนำ้ไปยังท่อ เพื่อเป็นเม็ดฝนตกลงมาในฉาก ซึ่งด้วยอาชีพของเราจะต้องหาวิธีที่จะไม่ได้ยินเสียงนำ้ตกลงหลังคาผ้าใบ การแก้ไขต้องสั่งอุปกรณ์กันเสียงฝนโดยเฉพาะมาจากต่างประเทศและก็ทดสอบว่าความเงียบ โอเคมั้ย จากการตั้งไมโครโฟนและอัดเสียงทั้งวันก่อนถ่ายจริง และส่งซาวนด์ ไปในห้องตัดต่อที่อเมริกา หลังจากทุกอย่างโอเคดี แล้วขั้นตอนต่อไปต้องมานั่งคุยกันกับผู้ช่วยผู้กำกับเรื่องคิวถ่าย เพราะต้องมีการเอาออกจากหลังคาตอนถ่ายภาพกว้าง นี้คือการทำงานที่ใช้คนและของ เพื่อให้ได้เสียงที่ดีครับ"

ต้นทำงานมานานเลยในหนังระดับอินเตอร์ อยากจะบอกอะไรกับคนที่สนใจ รุ่นน้องที่อยากจะทำงานด้านบันทึกเสียงให้ดีเด่นระดับโลก? "ขอให้น้องๆ ตั้งใจทำงานให้ดี และคิดว่าทุกงานที่เราได้รับมอบหมายยิ่งใหญ่เสมอ และไม่มีใครเก่งที่สุดในโลก คนเก่งคือคนที่ตั้งใจทำงานและพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา จงทำให้เหมือนภาพวาดที่ทุกคนก็อยากซื้อภาพวาดของเรา และวันนั้นเราก็จะมีลายเซ็นเป็นของตัวเราเอง".