Inside Dara
"ป๋อมแป๋ม” ขอโทษ เหยียดเชื้อชาติดูถูกสำเนียงอังกฤษ ยันไม่ได้เจตนา

“ป๋อมแป๋ม” ออกโรงขอโทษแทน “ปู ไปรยา - ณัฐ ศักดาทร” ยันไม่ได้ตั้งใจดูถูกสำเนียงภาษาอังกฤษของแต่ละชาติ แค่อยากจะโชว์ว่าปูและณัฐพูดภาษาอังกฤษได้ดีมากเท่านั้น ไม่โกรธโดนด่าเละยอมรับคำวิจารณ์ถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ปรับปรุงรายการไม่ให้ผิดพลาดอีก

กลายเป็นเรื่องเลยทีเดียวเมื่อรายการ ทอล์ก กะ เทย ที่มี “ป๋อมแป๋ม นิติ ชัยชิตาทร” เป็นพิธีกร “ปู ไปรยา” และ “ณัฐ ศักดาทร” เป็นแขกรับเชิญทดลองอ่านข่าวเป็นภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงของคนเอเชียชาติต่างๆ ทำให้ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า เหยียดเชื้อชาติล้อเลียนสำเนียงภาษาอังกฤษโดนด่าเละ ล่าสุดป๋อมแป๋มก็ได้มาร่วมรายการถ่ายทอดสด The Blue Carpet Show for UNICEF (เดอะ บลู คาร์เพท โชว์ ฟอร์ ยูนิเซฟ) ณ สตูดิโอมูนสตาร์ ก็ได้กล่าวขอโทษถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

“ก่อนอื่นขอโทษแทนทั้งปู ไปรยา ทั้ง ณัฐ ศักดาทร ด้วย เราพูดในฐานะโปรดิวเซอร์รายการเลยแล้วกัน คือขอโทษที่ทำให้ใครรู้สึกไม่สบายใจ คือด้วยเจตนาเราไม่ได้ตั้งใจที่จะล้อเลียนเลย แต่ว่าเราเข้าใจว่าถ้าคุณผู้ชมจะดูแล้วรู้สึกไม่สบายใจรู้สึกระคายหู อันนี้เราต้องขอโทษเพราะว่าเราไม่ได้มีเจตนาแบบนั้น แต่ก็อย่างที่บอกถ้าเกิดเราทำให้ใครไม่สบายใจเราขอโทษแทนณัฐแทนปูด้วย”

“จริงๆ เราคุยกันก่อนหน้านี้ว่า เราจะทำอย่างไรไม่ให้มีลักษณะของการล้อเลียน เรื่องของเรื่องคือสิ่งที่เราอยากจะให้เห็นคือ ณัฐกับปู พูดภาษาอังกฤษเก่งเขาพูดได้หมด ทีนี้ถ้าจะผิดมันคงผิดที่ทางรายการเอง ที่ตัวแมสเสจของรายการที่เราอยากจะบอกจริงๆ คือภาษาไหนมันก็พูดได้หมด ถ้ามันสื่อสารเข้าใจมันก็คือเข้าใจ แมจเสจตรงนั้นมันอาจจะไม่ได้ออกไปถึงคุณผู้ชม ซึ่งตรงนี้เราขอรับไว้ว่า มันเป็นความผิดของรายการเอง ไม่ใช่ความผิดของปูหรือของณัฐ เพราะว่าจากที่รู้จักทั้งสองคน เรารู้อยู่แล้ว ว่าเขาไม่มีทางที่จะมีความคิดในเชิงลบต่ออะไรแบบนี้เลยก็ขอโทษตรงนี้”

ไม่โกรธที่โดนวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม ถือเป็นบทเรียนในการทำรายการที่จะต้องระมัดระวังเรื่องเนื้อหามากขึ้น

“ก็มีติเตียนมีคอมเมนต์เยอะ ซึ่งทั้งหมดเราก็ไม่ได้โกรธนะ เราก็รู้สึกว่าถ้าเกิดติดตามรายการมาตลอดก็จะรู้ว่าเราค่อนข้างให้ความสำคัญกับคอมเมนต์ของคุณผู้ชมเยอะ เราได้โกรธไม่ได้ว่าอะไร จุดหนึ่งที่เราคุยกับทีมของเราก็คือมันเป็นบทเรียนที่ดีที่ต่อไปเราก็จะเพิ่มความระมัดระวังเนื้อหาใดๆ ถ้ามันจะต้องไปเกี่ยวข้องกับคนที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้น มันก็คงเป็นเรื่องที่เราจะต้องใส่ใจให้มากขึ้น”

ถึงขั้นนอยด์กับเสียงวิจารณ์

“มันก็มีนอยด์นิดหน่อยอยู่แล้วแหละ แต่ว่าอย่างที่บอกมันไม่ได้นอยด์ในลักษณะที่เราโกรธคนที่มาว่าเรานะ เรารู้สึกนิดหนึ่งว่าเสียดาย ถ้าดูทั้งเทปช่วงที่สัมภาษณ์ปูกับณัฐในเรื่องแรงบันดาลใจที่เขาเป็นฑูตคือมันดีมากเลย เราก็รู้สึกว่าตัวเราเองไม่น่าพลาดเลย แต่ก็ขอน้อมรับไว้เป็นความผิดของรายการเอง”

ส่วนกรณีที่ “ลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์” ทวิตข้อความที่ประเด็นดังกล่าวว่า “หมดยุคที่จะเอาสำเนียงชาติไหนก็ตามมาสร้างเสียงหัวเราะแล้ว” ซึ่งเรื่องนี้ “ป๋อมแป๋ม” ยอมรับว่าถูกต้อง

“เข้าใจเจตนาของลูกกอล์ฟนะ เขาจะย้ำเสมอว่า ไม่ว่าพูดภาษาอังกฤษสำเนียงไหน ขอแค่เราสื่อสารรู้เรื่อง มันคือการสื่อสารที่สัมฤทธิ์ผลแล้ว และก็ถูกต้อง คือเราเห็นด้วยกับลูกกอล์ฟเลยว่า มันหมดยุคของการมาล้อเลียน แต่ถ้าอย่างในรายการ คือบางคน จะพูดยังไงดี ... คือตรงที่เราหัวเราะตอนนั้น เราไม่ได้หัวเราะเพราะว่าสำเนียงเขาตลกนะ วันนั้นที่มันขำคือพี่ณัฐเขาพูดเหมือน นั่นคือสิ่งที่กระทบเราว่าพี่ณัฐทำไมมันพูดเหมือนอย่างนี้ แต่ว่ามันไม่ได้มีเจตนา หรือความตั้งใจที่จะล้อเลียนเลย คือถ้าเกิดดูตอนต้นที่พูดสำเนียงอเมริกันเพื่อให้เห็นว่าเราพูดได้ แต่ว่าแมสเสจที่เราต้องการจะสื่อ ในส่วนของขั้นตอนการตัดต่อมันอาจจะตกหล่นไป”

แค่ต้องการจะสื่อว่า สำเนียงของแต่ละพื้นที่เขามีความแตกต่างกันอย่างไร

“ใช่ค่ะ เอาจริงๆ เลย แป๋มว่ามันเป็นเรื่องสนุกด้วยซ้ำไปกับการที่เราได้เรียนรู้สำเนียงต่างๆ ตอนแป๋มเล่นละคร ต้องพูดภาษาใต้ เราไปฝึกมา แต่พอไปอยู่หน้างาน คนใต้ท้องถิ่นบอกอันนี้ไม่ใช่ใต้สุราษฎร์ธานีเป็นใต้พัทลุงก็ต้องไปแก้ เราเลยรู้สึกว่ามันสนุกด้วยซ้ำไป”

การทำงานไม่ได้ยากขึ้นแต่มันคือความท้าทาย

“อย่าเรียกว่ามันอยากเลยดีกว่า เรียกว่ามันเป็นความท้าทายมากกว่ามั้ง คือเราอยู่ในสื่อก็ต้องยอมรับอยู่แล้วว่า มันอาจจะถูกใจใครไม่ถูกใจใคร การคอมเมนต์ติชมมันก็เป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ว่าการทำงานครั้งต่อไป อย่างที่บอกว่าอย่าใช้คำว่ายาก ยิ่งข้อจำกัด ยิ่งโจทย์มันแคบลง เราจะทำอย่างไรให้ทะลุโจทย์อันนี้ไป อันนี้มันเป็นเรื่องที่ท้าทาย เราว่าคนทำงานทีวี ทำงานครีเอทีฟน่าจะรู้สึกสนุกกับเรื่องนี้มากกว่าด้วยซ้ำไป”

“ต่อไปเรื่องของการระมัดระวังว่า จะไม่ไปกระทบกระทั่งหรือไปพูดถึงคนที่ไม่ได้อยู่ในบทสนทนาของเรา อันนี้มันเป็นบทเรียนสำคัญของตัวแป๋มเองว่า มันเป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวังมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในเรื่องของการล้อเลียน การพูดถึงคนที่เขาไม่ได้อยู่ในบทสนทนาของเรามันก็เป็นบทเรียนครั้งใหญ่ว่า เราต้องเรียนรู้จากมัน”