Inside Dara
สื่ออินโดฯ เผยแพร่บทความสอนสำนักข่าวตะวันตก ทำไมคนไทยถึงรักในหลวง รัชกาลที่ ๙

จาการ์ตาโพสต์ - สื่ออินโดนีเซียเผยแพร่บทความของอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยบูรพา ระบุการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชคือความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของไทย และให้ข้อมูลอย่างละเอียดว่าทำไมผู้คนถึงรักพระมหากษัตริย์พระองค์นี้อย่างหาที่สุดมิได้ หลังสื่อมวลชนนานาชาติหลายฉบับรายงานข่าวโดยไม่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของพสกนิกร และรับรู้สถานการณ์ที่แท้จริงในไทย

บทความของ ดร.ภัทรพงษ์ รัตนเสวี จากมหาวิทยาลัยบูรพา ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของจาการ์ตาโพสต์ ระบุว่า หัวค่ำของวันที่ 13 ตุลาคม คือช่วงเวลาที่วิกฤตยิ่งของปวงชนชาวไทย เพราะมันเป็นเวลาที่สำนักพระราชวังแถลงอย่างเป็นทางการว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กษัตริย์ที่ทรงครองราชย์นานที่สุดในโลก เสด็จสวรรคต สิ้นสุด 70 ปีแห่งการครองราชบัลลังก์ของพระองค์

ทั่วทั้งประเทศถูกปกคลุมไปด้วยความเงียบงัน โศกเศร้า และความไม่แน่นอน ขณะที่มันเป็นค่ำคืนที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ยากลำบากและยาวนานของพสกนิกรชาวไทย

ดร.ภัทรพงษ์ระบุผ่านจาการ์ตาโพสต์ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นที่รักและเคารพยิ่งในไทย พระองค์ทรงเปรียบเสมือนหัวใจของชาติ แสดงให้เห็นจากเหล่าผู้นำโลกจำนวนมากออกถ้อยแถลงแสดงความอาลัย ในนั้นรวมถึงประธานาธิบดี บารัค โอบามา, ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน, ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และบัน คี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ขณะที่สหประชาชาติก็จัดประชุมวาระพิเศษเพื่อสดุดีพระองค์เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยบูรพาบอกต่อว่า เมื่อเร็วๆ นี้ข่าวพาดหัวของสื่อมวลชนนานาชาติเต็มไปด้วยข่าวลือและความคาดหมายเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ รวมถึงบทบาทซึ่งเป็นที่ถกเถียงในทางการเมืองของพระองค์และอนาคตของประเทศ นั่นเป็นเพียงมุมมองของต่างชาติ แทนที่จะสนทนากันในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนและรับรู้สถานการณ์ที่แท้จริงในไทย ซึ่งในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญยิ่งนี้ สิ่งที่น่าสนใจกว่าก็คือการตระหนักว่าทำไมพระมหากษัตริย์ไทยถึงเป็นที่เคารพรักทั้งพสกนิกรไทยและต่างชาติ เช่นเดียวกับทำไมพระองค์ทรงมีความพิเศษอย่างยิ่ง แตกต่างจากอย่างมากกับระบบราชาธิปไตยอื่นๆ

บทความในจาการ์ตาโพสต์ระบุว่า อย่างแรกเลย มีคนมากมายพูดว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชถูกมองอย่างกว้างขวางในฐานะกึ่งเทพ มันเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว ครึ่งหนึ่งของความเชื่อว่าพระองค์เป็นมนุษย์กึ่งเทพ มาจากความเชื่อดั้งเดิมและในฐานะของกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนาน แต่อีกครึ่งหนึ่งมาจากบุคลิกและกิจวัตร รวมถึงความมีศีลธรรม ชีวิตส่วนพระองค์ และพระอัจฉริยภาพด้านต่างๆ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะกษัตริย์ผู้ทรงงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย อ่อนโยน ห่วงใย โอบอ้อมอารี เอาจริงเอาจัง เฉลียวฉลาด เคร่งขรึมและตั้งใจ พระองค์ทรงใช้ชีวิตเรียบง่ายและติดดิน มีเรื่องเล่ามากมายปากต่อปากในหมู่ผู้คนเกี่ยวกับแบบอย่างการใช้ชีวิตเรียบง่ายของพระองค์ อย่างเช่น หลอดยาสีฟันที่ทรงใช้จนแบนราบคล้ายแผ่นกระดาษ นาฬิกาเรือนโปรดของพระองค์ ปากกาและรองเท้าที่ซ่อมแล้วซ่อมอีก ส่วนที่ทำงานของพระองค์ก็เป็นแค่ห้องแคบๆ กว้าง 3 เมตร ยาว 4 เมตร ที่เต็มไปด้วยวิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ แผนที่ และอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ บทความในจาการ์ตาโพสต์ระบุ

ดร.ภัทรพงษ์บอกต่อว่า นอกเหนือจากหน้าที่ของกษัตริย์แล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังทรงเป็นนักวาดภาพมืออาชีพ ช่างภาพมืออาชีพ นักดนตรีแจ๊ซ นักแต่งเพลง วิศวกร สถาปนิก นักประพันธ์หนังสือ นักแปล นักประดิษฐ์และนักคิดสร้างสรรค์ ยิ่งกว่านั้นพระองค์ยังมีความเชี่ยวชาญในภาษาต่างชาติ 7 ภาษา และครั้งหนึ่งเมื่อไทยเป็นเจ้าภาพกีฬาแหลมทอง (ปัจจุบันคือซีเกมส์) พระองค์ก็ทรงคว้าเหรียญทองในกีฬาเรือใบโดยเรือที่เป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง

พระองค์ทรงได้ปริญญากิตติมศักดิ์กว่า 200 ใบ จากทั้งมหาวิทยาลัยภายในและต่างประเทศ เช่นเดียวกับรางวัลทรงคุณค่าระหว่างประเทศต่างๆ นานา ในนั้นรวมถึงผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต (Lifetime Achievement Award) จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีพี) คนแรกของโลก ในปี 2006 ที่เสนอโดยนายโคฟี อันนัน เลขาธิการยูเอ็น ณ ขณะนั้น และตอนนี้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ แนวคิดที่สนับสนุนประชาชนใช้ชีวิตแต่พอมีและพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาอย่างสมดุลระหว่างความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่นเดียวกับแนวทางปฏิบัติต่างๆ แห่งความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เวลานี้กำลังถูกนำไปประยุกต์ใช้ทั่วโลก

อย่างที่สอง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยบูรพาระบุว่า คือการที่พระองค์ทุ่มเทพระวรกายตลอดช่วงชีวิตทำงานเพื่อพสกนิกรในประเทศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงริเริ่มและดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ กว่า 4,000 โครงการ ทั้งในชนบทและพื้นที่เมือง ในนั้นรวมถึงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอันสำคัญบางแห่ง อย่างเช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ถนนรัชดาภิเษก ทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี สะพานพระราม 8 และถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ด้วยหลายโครงการเชื่อว่าใช้เงินส่วนพระองค์ ขณะเดียวกัน โครงการด้านการเกษตร ป่าไม้ และอุตสาหกรรมขนาดเล็กบางส่วน ก็เริ่มต้นในฐานะการทดลองผลิตเองในสวนของพระราชวังดุสิต ที่ประทับของพระองค์ในกรุงเทพฯ และมันจะถูกนำไปใช้และมอบให้ประชาชนนำไปใช้ประโยชน์เมื่อคิดว่าประสบผลสำเร็จแล้ว

ดร.ภัทรพงษ์ให้ข้อมูลผ่านจาการ์ตาโพสต์ต่อว่า พระองค์ยังถือครองสิทธิบัตรระหว่างประเทศหลายใบ โดยที่โด่งดังที่สุดคือเทคโนโลยีฝนหลวง กังหันน้ำเพื่อบำบัดน้ำเสียชัยพัฒนา และพลังงานไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์ม พระองค์ทรงงานคู่ขนานและประสานงานกับรัฐบาล แต่บ่อยครั้งความพยายามของพระองค์ดูเหมือนจะรวดเร็ว มีประสิทธิผล ได้คำตอบ มีการวางแผนที่ดีและปราศจากคอร์รัปชัน ซึ่งสวนทางกับทัศนคติไม่ใส่ใจและผลงานไร้ประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่รัฐบาล ทำให้พระองค์ทรงเป็นที่ศรัทธาและน่าเชื่อถือที่สุดในสายตาประชาชน

อย่างที่ 3 บางทีอาจเป็นเพราะการครองราชย์ที่ยาวนานและบทบาทชี้ขาดในทางการเมือง วิกฤตและสังคมของพระองค์ ทั้งนี้ ด้วยทรงเป็นที่เคารพรักอย่างสูง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงมีสถานะพิเศษเหมือนคนกลางสุดท้าย พระองค์ทรงแทรกแซงทางการเมืองอย่างชาญฉลาดและทำเท่าที่จำเป็น แต่ผลลัพธ์นั้นทรงพลังและไม่สามารถปฏิเสธได้

โดยหนึ่งในเหตุการณ์ซึ่งเป็นที่จดจำมากที่สุด ก็คือ ระหว่างเหตุความไม่สงบนองเลือดในปี 1992 พระองค์ทรงเรียกสองแกนนำฝ่ายตรงข้ามเข้าพบเพื่อหาทางออกอย่างสันติและยุติการนองเลือด เหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้มีการออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ และนำมาสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่ได้รัฐบาลพลเรือน ขณะที่พระองค์เคยทำแบบเดียวกันนี้ในปี 1973 และ 1976 ดร.ภัทรพงษ์ระบุ

บทความในจาการ์ตาโพสต์ระบุว่า สิ่งที่เราได้เรียนรู้จาก 70 ปีแห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็คือ ด้วยการทรงงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย อุทิศพระวรกายทั้งชีวิตเพื่อสังคมและเป็นแบบอย่างด้านการใช้ชีวิตเรียบง่าย ประเทศไทยจึงประสบความสำเร็จในรูปแบบอำนาจซึ่งไม่เป็นไปตามแบบแผน ที่ทั้งหมดสร้างขึ้นรอบๆ บุคคลเดียว อำนาจที่อ่อนโยนของพระองค์เหนือกว่าอำนาจที่แข็งกร้าว และช่วยรักษาเสถียรภาพของประเทศ และบางครั้งบางคราวทรงนำพาประเทศผ่านพ้นความยุ่งเหยิงทั้งภายในและภายนอก

แน่นอนว่าพลังอำนาจพิเศษของพระองค์คงไม่สอดคล้องกับแนวทางที่ชาวตะวันตกทั่วไปคิด หากปราศจากการศึกษาบริบททางสังคมและประวัติศาสตร์ มันยากที่จะเข้าใจ มันพบเห็นได้น้อยมากในประวัติศาสตร์ และคงไม่ได้พบเห็นในอนาคตอันใกล้นี้ ดร.ภัทรพงษ์กล่าวปิดท้ายในจาการ์ตาโพสต์