Inside Dara
'ดาวรุ่ง-ล้มยักษ์-แพ้ยับเยิน' ปรากฏการณ์สำคัญ'เลือกตั้ง2562'

เลือกตั้ง62 พรรคการเมือง เลือกตั้ง การเมือง

หลังจากที่รอมานานกว่า 5 ปี หรือหากนับกันจริงๆ คือ 8 ปี ในที่สุดคนไทยก็ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กันแล้วเมื่อ 24 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเรื่องราวมากมายให้พูดถึงตั้งแต่กลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 18 - 24 ปีที่มีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรก (First Voter) การจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีปัญหาและข้อสังเกต รวมถึงผลการเลือกตั้งที่หลายคนก็ยังไม่อยากเชื่อเพราะเหนือความคาดหมายในหลายพื้นที่

“ภาคเหนือ” มี 9 จังหวัด พบว่า “พรรคเพื่อไทย” ยังได้รับความนิยมอย่างสูงเช่นเคย โดยสามารถยึดพื้นที่แบบกวาดเรียบทุกเขตไปถึง 5 จังหวัดคือ เชียงใหม่ ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ ลำพูน แต่ก็ต้องยอมรับว่าคะแนนถูกแบ่งไปในบางจังหวัด อาทิ “จ.เชียงราย” ที่ถูก “พรรคอนาคตใหม่” พรรคเกิดใหม่แต่มาแรงในกลุ่มวัยรุ่นคนหนุ่มสาว แย่งที่นั่ง สส. ไปได้ 2 จาก 7 ที่นั่ง

เช่นเดียวกับ “จ.แพร่” ที่อนาคตใหม่ได้ไป 2 ที่นั่ง รวมถึง “จ.พะเยา” ที่พรรคเพื่อไทยเสียพื้นที่ให้ “พรรคพลังประชารัฐ” อีกพรรคเกิดใหม่ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย ไปถึง 2 จากทั้งหมด 3 ที่นั่ง ส่วน จ.แม่ฮ่องสอน ที่มีเขตเดียวนั้นไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย แต่เป็นความพ่ายแพ้ของ “พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งเสียพื้นที่ให้กับพรรคพลังประชารัฐ

“แจ็คผู้ล้มยักษ์” ฐิตินันท์ แสงนาค ว่าที่ สส.เขต 1 จ.ขอนแก่น จากพรรคอนาคตใหม่

ที่มา : เฟซบุ๊คแฟนเพจ “อนาคตใหม่ เขต 1 ขอนแก่น”

“ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เป็นอีกภาคที่พรรคเพื่อไทยยังเก็บที่นั่ง สส. ไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ อย่างที่มีใครบางคนว่าไว้ “ชื่อพรรคเพื่อไทยอย่างไรก็ขายได้ในถิ่นอีสาน” ส่วนใหญ่ชนะแบบกวาดเรียบยกจังหวัด แต่มีบางจังหวัดที่น่าสนใจ เช่น จ.ขอนแก่น เพราะเสียพื้นที่ให้กับพรรคอนาคตใหม่และพรรคพลังประชารัฐไปอย่างละ 1 เขต โดยเฉพาะในเขต 1 ที่เจ้าของพื้นที่เดิม จักริน พัฒน์ดำรงจิตร ดีกรี สส. 4 สมัย ตั้งแต่พรรคไทยรักไทยถึงพรรคเพื่อไทย พ่ายให้กับ ฐิตินันท์ แสงนาค จากพรรคอนาคตใหม่ สร้างตำนาน “แจ็คผู้ล้มยักษ์” ที่ถูกกล่าวขานในขณะนี้

แต่สำหรับพรรคขนาดกลางที่หวังรักษาพื้นที่เพียงระดับท้องถิ่น “พรรคชาติพัฒนา” ดูจะทำผลงานได้อย่างน่าผิดหวังที่สุด หากเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าในปี 2554 ในฐานที่มั่น “จ.นครราชสีมา” ที่ได้ สส. 4 จาก 15 ที่นั่ง ครั้งนี้เหลือเพียง 1 ใน 14 ที่นั่ง โดยมีเพียง วัชรพล โตมรศักดิ์ ในเขต 2 เท่านั้นที่ยังรักษาเก้าอี้ไว้ได้ ตรงกันข้ามกับ “พรรคภูมิใจไทย” ที่นอกจากจะยังรักษา 3 เก้าอี้เดิมในนครราชสีมาไว้ได้แล้ว “จ.บุรีรัมย์” ถิ่นหลักของตน ครั้งก่อนมี 9 เขต เสียให้พรรคเพื่อไทยไป 2 เขต ส่วนครั้งนี้มี 8 เขต สามารถยึดกุมไว้ได้ทั้งหมดยกจังหวัด

ถึงกระนั้น “อิทธิฤทธิ์พลังดูด” ดูจะน่ากลัวไม่น้อย เพราะพรรคพลังประชารัฐเองก็ได้ สส. ใน จ.นครราชสีมา ไปถึง 6 ที่นั่ง “ 3 ใน 6 มาจากตระกูลรัตนเศรษฐ” โดย 2 คนเป็น สส.เดิมจากพรรคเพื่อไทย คือ ทัศนียา รัตนเศรษฐ กับ อธิรัฐ รัตนเศรษฐ และอีก 1 เป็น สส.ใหม่คือ ทวิรัฐ รัตนเศรษฐ ส่วนพรรคเพื่อไทยเหลือเพียง 4 จากเดิม 8 ที่นั่งซึ่งเป็น สส. หน้าเดิมทั้งหมดคือ ประเสริฐ จันทรรวงทอง , โกศล ปัทมะ , ศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ และ สุชาติ ภิญโญ

“ไม่แพ้ในบ้านก็พอใจแล้ว” พรรคชาติไทยพัฒนา ฉลองความสำเร็จจากการรักษาเก้าอี้ สส. ทั้ง 4 เขตใน จ.สุพรรณบุรีไว้ได้

ที่มา : https://www.naewna.com/politic/404075 (‘กัญจนา’นำทัพขึ้นรถแห่ ขอบคุณพี่น้องชาวสุพรรณบุรี27มีนาคมนี้ : 26 มี.ค. 2562)

“ภาคกลาง” ดูจะเห็นภาคที่แข่งขันกันหนักหน่วงที่สุด แต่อย่างน้อยๆ “พรรคชาติไทยพัฒนา” ก็ไม่ต้องถูกใครแซวว่าแพ้คาบ้าน เพราะ “เก็บเก้าอี้ สส. ได้ครบ 4 ที่นั่งทั้ง 4 เขตทั่ว จ.สุพรรณบุรี” ถึงขนาดที่ผู้อำนวยการพรรค นิกร จำนง ประกาศว่า “ชนะที่สุพรรณบุรีทุกเขตถือว่าทำสำเร็จแล้ว” ต่างจาก “จ.สุโขทัย” ซึ่งนักการเมืองคนดังในพื้นที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ช่วยพรรคพลังประชารัฐหาเสียงแล้วประกาศว่าจะกวาดให้ได้ทั้ง 3 เขตทั่วจังหวัด แต่เอาเข้าจริงกลับได้ไป 2 เขต อีก 1 เขตถูกพรรคภูมิใจไทยแบ่งไปได้

“พิษณุโลก” จังหวัดนี้ขอให้ดูที่ “เขต 1” เพราะเป็นถิ่นของคนดัง “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ดีกรี สส. 3 สมัย แห่งพรรคประชาธิปัตย์ แถมยังเคยท้าชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคแข่งกับ “พี่มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนจะพ่ายแพ้ไป แต่นั่นคงไม่น่าปวดใจเท่ากับการ “เสียแชมป์เป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี” ให้กับคู่แข่งจากพรรคอนาคตใหม่ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ไปแบบไม่มีใครคาดคิด ทั้งที่แม้แต่ตอนพรรคไทยรักไทยพุ่งแรงสุดๆ ยึดที่นั่ง สส. ในสภาได้ 377 จาก 500 ที่นั่ง ช่วงปี 2548 หมอวรงค์เป็นคนหนึ่งในพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังรักษาพื้นที่ไว้ได้

(ขวา) ผลการเลือกตั้ง สส. ปี 2562 ทั้ง 30 เขตในกรุงเทพฯ พบว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้แม้แต่เขตเดียว ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ (สีเขียว) ได้ สส. 12 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ (สีส้ม) ได้ 9 ที่นั่ง และพรรคเพื่อไทย (สีแดง) ได้ 9 ที่นั่ง

ที่มา : เว็บไซต์ The Standard

“กรุงเทพฯ” น่าจะเป็นพื้นที่ที่พรรคประชาธิปัตย์เจ็บหนักที่สุด ในการเลือกตั้งปี 2554 กรุงเทพฯ มี สส. 33 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ไป 23 ที่นั่ง เหลือให้คู่แข่งอย่างพรรคเพื่อไทย 10 ที่นั่ง “แต่ในการเลือกตั้ง 2562 กทม. มี สส. 30 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้แม้แต่ที่นั่งเดียว” หากไม่เสียให้กับพรรคอนาคตใหม่ ก็เป็นพรรคพลังประชารัฐที่ชิงพื้นที่ไปได้ ไม่เว้นแม้แต่บางเขตที่มีตระกูลการเมืองเก่าแก่สืบทอดรุ่นต่อรุ่น

ซึ่งก็มีผู้วิเคราะห์ว่า “คนกรุงเทพฯ วันนี้แบ่งข้างกันชัดเจน” ระหว่าง “ฝ่ายหนึ่งไม่ชอบพรรคเพื่อไทย กลุ่มเสื้อแดง ทักษิณ และพรรคที่มีแนวคิดรุนแรงอย่างอนาคตใหม่” ฝ่ายนี้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จากพรรคพลังประชารัฐ เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำทัพมากที่สุดโดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นพันธมิตร แต่เมื่อพี่มาร์คบอกไม่เอาลุงตู่ จึงไม่ลังเลที่จะบอกลาประชาธิปัตย์ทันที “กับอีกฝ่ายหนึ่งที่คาดเดาว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวหน้าล้ำสมัย” คนกลุ่มนี้ก็จะเลือกพรรคอนาคตใหม่ที่ภาพลักษณ์ไปทางนั้นมากกว่าทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทย

“จ.สมุทรสาคร” เป็นอีกจังหวัดที่น่าสนใจ ใน 3 เขตเลือกตั้ง เมื่อปี 2554 ประชาธิปัตย์ได้ไป 2 ที่นั่งในเขต 1 กับ 3 ส่วนเพื่อไทยแบ่งไป 1 ที่นั่งในเขต 2 แต่ในการเลือกตั้ง 2562 พบว่าเขต 1 กับเขต 2 กลายเป็นการต่อสู้กันระหว่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคอนาคตใหม่ ก่อนที่ฝ่ายหลังจะคว้าชัยไปได้ทั้ง 2 เขต ส่วนเขต 3 พรรคพลังประชารัฐคว้าชัยเหนืออันดับ 2 คือพรรคชาติไทยพัฒนา

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า เขต 1 กับ 2 ไม่มีผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย และเป็นอีกพื้นที่ที่พรรคประชาธิปัตย์เสียที่นั่ง สส. ที่เคยมีให้กับ 2 พรรคเกิดใหม่ข้างต้น เช่นเดียวกับ “จ.เพชรบุรี” อีกจังหวัดที่ประชาธิปัตย์ต้องน้ำตาตก ที่นี่มีโควตา สส. 3 ที่นั่งจาก 3 เขตเลือกตั้ง โดยปี 2550 กับ 2554 “พลบุตร - สุภาแพ่ง” คือ 2 ตระกูลดังที่ช่วยให้พรรคประชาธิปัตย์ครองทั้งจังหวัด แต่มาหนนี้ทั้ง 3 เขตถูกพรรคพลังประชารัฐแย่งเก้าอี้ สส. ไปได้ทั้งหมด

“ภาคตะวันออก” ที่เมืองแห่งสวนผลไม้ “จ.จันทบุรี” มีโควตา สส. ในจังหวัด 3 ที่นั่ง ในการเลือกตั้ง 2550 และ 2554 อยู่ในความครอบครองของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมด แต่มาคราวนี้กลับเสียไปให้พรรคอนาคตใหม่แบบไม่เหลือแม้แต่ที่นั่งเดียว ขณะที่ “จ.สระแก้ว” มี 3 เขตเลือกตั้งเช่นกัน ที่นี่ตระกูลดัง “เทียนทอง” เคยสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยครองพื้นที่ทั้ง 3 เขตเลือกตั้งในปี 2554

แต่มาครั้งนี้ 2 ใน 3 อดีต สส.เพื่อไทยในพื้นที่คือ ฐานิสร์ เทียนทอง - ตรีนุช เทียนทอง ย้ายข้างไปอยู่กับคู่แข่งหน้าใหม่แต่มาแรงอย่างพรรคพลังประชารัฐ และช่วยให้ “ทีมลุงตู่” ครองเขต 1 กับเขต 2 ส่วนในเขต 3 สรวงศ์ เทียนทอง แชมป์เก่าปี 2554 ที่ยังขอปักหลักเฝ้าพื้นที่ในนามพรรคเพื่อไทยไม่ย้ายหนีไปไหน สุดท้ายก็ไม่สามารถรักษาเก้าอี้ สส. ไว้ได้ โดยพ่ายให้กับ สุรศักดิ์ ชิงนวรรณ์ จากพรรคพลังประชารัฐ เท่ากับพรรคเพื่อไทยเสียหมดทั้ง 3 เขต โดยเจอพลังดูดแผลงฤทธิ์เล่นงานถึง 2 ใน 3 เขต

“2 ผู้พ่ายแพ้” (ซ้าย) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต สส. เขต 1 จ.พิษณุโลก ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งในปี 2562 , (ขวา) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังพรรคแพ้เลือกตั้งแบบยับเยิน

ถ้ากรุงเทพฯ ภาคกลางและภาคตะวันออกว่าเจ็บแล้ว “ภาคใต้” ต้องบอกว่าเจ็บกว่าสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ อย่างที่คอการเมืองทราบกันว่า “คนใต้อย่างไรก็ประชาธิปัตย์” พรรคได้รับความนิยมเหนียวแน่นได้ที่นั่ง สส. แบบแทบยกภาคตลอดมา แต่ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 หลายพื้นที่เจอแย่งเก้าอี้ สส. ไปได้ เช่น “จ.ตรัง” ตั้งแต่ปี 2538 - 2554 ทีมี 4 เขต เลือกตั้งเมื่อใดประชาธิปัตย์กวาดเรียบ

แต่คราวนี้ที่ จ.ตรัง เหลือที่นั่ง สส.ทั้งหมด 3 เขต พรรคพลังประชารัฐชิงไปได้ 1 เขต เหลือให้ประชาธิปัตย์ 2 เขต ไม่รู้ว่า “นายหัวชวน” ชวน หลีกภัย ปูชนียบุคคลของพรรคประชาธิปัตย์จะรู้สึกอย่างไรที่พรรคพ่ายแพ้ครั้งแรกในรอบ 2 ทศวรรษที่บ้านเกิดของตนเอง เช่นเดียวกับที่ “จ.พัทลุง” พื้นที่ของคนดังระดับรองหัวหน้าพรรค นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ เป็น สส. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่ปี 2535 และไม่เคยแพ้ใครสักครั้ง จนวันนี้มาแพ้ให้กับพรรคภูมิใจไทย อดเข้าสภาเป็นหนแรก โดย จ.พัทลุง มี 3 เขต ภูมิใจไทยได้ไป 2 ประชาธิปัตย์เหลือ 1

(ซ้าย) นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ (ขวา) สุเทพ เทือกสุบรรณ

โดยรวมแล้วสำหรับภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์เจอแบ่งที่นั่ง สส. ไปเป็นจำนวนมาก จาก 4 พรรคคือพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย รวมถึง “พรรคประชาชาติ” ของนักการเมืองระดับตำนานดีกรีรัฐมนตรีหลายสมัย “วันนอร์” วันมูหะมัดนอร์ มะทา มีฐานเสียงอยู่ใน 3 จังหวัดปลายด้ามขวาน (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) นอกจากนี้ยังมี “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” ที่สนับสนุนโดยอดีตบุคคลสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ ได้มา 1 ที่นั่งจาก จ.ชุมพร

อย่างไรก็ตาม สำหรับบ้านเกิดของลุงกำนัน “จ.สุราษฎร์ธานี” ซึ่งมีโควตา สส. 6 ที่นั่ง พรรครวมพลังประชาชาติไทยไม่สามารถแย่งพรรคประชาธิปัตย์มาได้แม้แต่ที่นั่งเดียว แถมยังแพ้ขาดลอย คะแนนห่างจากผู้สมัครประชาธิปัตย์ที่ได้อันดับ 1 ในทุกเขตอีกต่างหาก นั่นหมายความว่าการย้ายพรรคอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีกับทุกพื้นที่ บางแห่งตัวบุคคลนั้นสำคัญ แต่บางพื้นที่ชื่อพรรคก็ดูจะมีภาษีดีกว่า

“ตัวแปรสำคัญ” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งการเลือกตั้ง 2562 พรรคได้ สส. รวม 51 ที่นั่ง เป็นแบบแบ่งเขต 39 ที่นั่ง บัยชญรายชื่อ 12 ที่นั่ง มากพอสำหรับการถูกจับตามองในฐานะผู้ชี้ขาดว่าฝ่ายใดจะได้ตั้งรัฐบาล

จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลชุดใหม่จะมีหน้าตาอย่างไร เพราะพรรคเพื่อไทยที่ได้ที่นั่ง สส. ในสภามากที่สุดแต่ได้คะแนนดิบ (Popular Vote) เป็นอันดับ 2 กับพรรคพลังประชารัฐที่ได้คะแนนดิบมากที่สุดแต่ได้ที่นั่ง สส. ในสภาเป็นอันดับ 2 ต่างอ้างว่ามีสิทธิ์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่การเลือกตั้งหนนี้ก็มีเรื่องเหลือเชื่อมากมายเกิดขึ้น โดยเฉพาะกระแส “ทิ้งพี่มาร์คไปซบลุงตู่” ของแฟนคลับพรรคประชาธิปัตย์ที่หนีไปหาพรรคพลังประชารัฐ หรือ “ฟ้ารักพ่อ” ของกองเชียร์พรรคอนาคตใหม่ ที่ทำให้พรรคเกิดใหม่ทั้ง 2 กลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง

ส่วนพรรคเพื่อไทยแม้จะเจอพลังดูดดึงนักการเมืองเด่นๆ หายไปหลายคน แต่โดยรวมก็ไม่ยังไม่เจ็บหนักเท่าใดนัก พื้นที่หลักอย่างภาคเหนือและภาคอีสานยังรักษาไว้ได้แทบทั้งหมด ตรงกันข้ามกับพรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ที่พ่ายแพ้ย่อยยับ เสียพื้นที่หลายแห่งทั้งภาคกลาง ตะวันออก ใต้ รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ถึงขั้นหัวหน้าพรรคต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ แล้วไม่รู้ว่าจะมีโอกาสกลับมาได้หรือไม่? หากข้อสันนิษฐานที่ว่าฐานเสียงเดิมที่มีเป็นกลุ่มเดียวกับพรรคพลังประชารัฐเป็นเรื่องจริง ครั้นจะไปเจาะกลุ่มวัยรุ่นก็ไม่ทันอนาคตใหม่เสียแล้ว

เป็นการเลือกตั้งที่มีสีสันจริงๆ และเชื่อว่าจะถูกพูดถึงไปอีกนาน!!!